CCP เผยทิศทางธุรกิจปี 63 แนวโน้มดี โดยเฉพาะพื้นที่ EEC รัฐบาลอัดเม็ดเงินลงทุนต่อเนื่องส่งผลปรับเพิ่มสัดส่วนงานภาครัฐเป็น 80% ชูกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้ารายย่อยทั่วประเทศ ปรับโมเดลธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จ เพิ่มความสามารถการทำกำไร รองรับงานโครงสร้างพื้นฐานและงาน Landscape เดินหน้าประมูลงานเมกะโปรเจกต์ พร้อมทุ่มงบ 60 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รักษา Backlog 1,700 ล้านบาท ตั้งเป้าเติบโต 10 % รายได้แตะ 2,600 ล้านบาท
นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP เปิดเผยถึง ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์คอนกรีตในปี 2563 ว่า มีแนวโน้มที่ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐาน ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ทยอยดำเนินงานก่อสร้าง อีกทั้งยังมีโครงการของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง อาทิ งานถนน งานอาคารสำนักงาน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว  ดังนั้นในปีนี้บริษัทฯจึงเน้นการรับงานภาครัฐมากขึ้นในสัดส่วน 80% และภาคเอกชน สัดส่วน 20% จากเดิมที่สัดส่วนงานภาครัฐจะอยู่ที่ 60% และเอกชน 40%

ดังนั้นแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทฯจะมุ่งเน้นการปรับโมเดลธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จ(Ready Mix) เนื่องจากเทรนด์การก่อสร้างในปัจจุบันใช้ระยะเวลาที่สั้นลง ต้องปรับกลยุทธ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะมุ่งเน้นการให้บริการในลักษณะ Mobile Plant โดยจัดตั้งแพลนท์ปูนชั่วคราวที่สามารถรื้อถอนได้ ให้บริการเช่ารถขนส่ง ขายคอนกรีต รวมทั้งให้บริการตรวจสอบคุณภาพผงปูน เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขัน เพิ่มความสามารถในการทำกำไร

ด้านสินค้า Precast ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์สเปกพิเศษ ออกสินค้านวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง รองรับงานโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ งานถนน งานสะพาน ขยายฐานลูกค้าไม่จำกัดเฉพาะภาคตะวันออก มุ่งเน้นเข้าประมูลงานทั่วประเทศขณะที่สินค้าประเภทบล็อกคอนกรีตสำเร็จรูป อาทิ บล็อกปูพื้น กำแพงกันดิน มีความต้องการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันมีหน่วยงานหลายแห่งเริ่มนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทเข้าไปใช้ในงานด้าน Landscape ในปีนี้บริษัทจะเน้นการทำตลาดผลิตภัณฑ์ในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จะมุ่งเน้นการเปิดตลาดใหม่เพื่อขยายฐานลูกค้าและกระจายความเสี่ยง รวมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปผ่านช่องทางการจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยทั่วประเทศ

ปัจจุบันบริษัทฯมี Backlog ประมาณ 1,700 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ในระยะเวลา 1 ปีครึ่งแบ่งเป็นการรับรู้รายได้ภายในปีนี้ 60% โดยบริษัทฯจะทยอยประมูลงานเข้ามาเพิ่มอีกในอนาคต เพื่อรักษาระดับมูลค่างานในมือ (Backlog) ไว้ไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้บริษัทตั้งงบสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับปรุงเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไว้ที่ประมาณ 60 ล้านบาท   โดยในปี 2563 นี้ บริษัทฯตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ประมาณ 2,600 ล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากงานภาครัฐ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*