ไวรัสโคโรนา พ่นพิษธุรกิจโรงแรมช่วงไฮซีซัน MBK-พราวด์ กรุ๊ป ระบุลูกค้าหาย ยกเลิกเข้าพัก ปรับแผนรับมือดึงกลุ่มประเทศอื่นทดแทนทัวร์จีนที่หายไป วอนภาครัฐหามาตรการดึงความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวฟื้น ผู้ประกอบการอยู่รอด
ปรับแผนดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่
นายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมและธุรกิจศูนย์การค้าของบริษัท โดยที่ผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในปัจจุบันมีผลกระทบค่อยข้างมาก ซึ่งในช่วงหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน อัตราการเข้าพักของโรงแรมในเครือของบริษัทฯปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการชะลอการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทำให้มีนักท่องเที่ยวและกรุ๊ปทัวร์บางส่วนยกเลิกการเดินทางเข้ามาพัก

โดยเฉพาะอัตราการเข้าพักของโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ซึ่งโดยปกติในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์  จะอยู่ที่ประมาณ 80% แต่ล่าสุดอัตราการเข้าพักได้ลดลงไปมากพอสมควร ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในเครือค่อนข้างมาก แต่ต้องยอมรับว่าเป็นไปตามภาวะของอุตสาหกรรมที่ต่างได้ได้รับผลกระทบกันทั้งหมด

“หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา  ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวที่ลดลงไป และประชาชนชะลอการเข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้า เนื่องจากมีความกังวลของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา ซึ่งกระทบต่อผู้เช่าในศูนย์การค้าไปด้วย โดยในปัจจุบันบริษัทฯยังอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานิ่งก่อน จึงจะมาประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น และมองหาแนวทางในการฟื้นธุรกิจและเยียวยาผู้เช่า” นายสุเวทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯไม่ได้มีการพึ่งพิงกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ทำให้ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและเข้าพักโรงแรมในเครือของบริษัทอยู่ อาทิ  ประเทศแถบตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ ซึ่งนักท่องเที่ยวในบางประเทศยังมีการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอยู่ ซึ่งช่วยชดเชยนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปได้บ้าง

“จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ก็คงจะต้องทบทวนปรับปรุงแก้ไขใหม่ เพราะขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดก็ยังไม่นิ่ง ซึ่งยังคงต้องติดตามให้สถานการ์ณนิ่งก่อน  จึงค่อยมาประเมินผลกระทบและนำมาปรับแผนงาน รวมทั้งดูการฟื้นและเยียวยาธุรกิจ มองว่าตอนนี้ทั้งธุรกิจโรงแรมและศูนย์การค้าเกิดการช็อค หลังจากนักท่องเที่ยวหายไปมากในช่วงไฮซีซันนี้ แต่ในส่วนของโรงแรมกรุ๊ปทัวร์ที่ยกเลิกไป เราก็เก็บเงินมัดจำเขาไว้ก่อน หลังจากที่สถานการ์ณกลับมาปกติแล้ว ลูกค้าจะตัดสินใจกลับมาอีกครั้ง ก็จะนำเงินตรงนี้มาเป็นเงินมัดจำของลูกค้าตามเดิม แต่มองภาพตอนนี้ธุรกิจมีโอกาสฟื้นช้ากว่า แต่ถ้ามองในแง่บวกอีก 2 เดือนข้างหน้าทุกอย่างน่าจะจบ แต่ก็ไม่ทราบแน่นอนว่าจะเป็นช่วงไหน” นายสุเวทย์ กล่าว

ด้านมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการลดหย่อนภาษีจากทางภาครัฐที่ออกมา บริษัทมองว่าเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับฟื้นมาได้ แต่ยังต้องใช้เวลา โดยในส่วนของผู้ประกอบการนั้นต่างต้องกลับมาดูแลธุรกิจของตัวเองเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และหาโอกาสมาปรับปรุงธุรกิจให้ดีขึ้น และควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ จะใช้โอกาสดังกล่าวในการทยอยปรับปรุงโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ในส่วนที่ยังไม่ได้ปรับปรุง โดยวางงบลงทุนในการปรับปรุงไว้ที่ 300-400 ล้านบาท พร้อมกับเดินหน้าการก่อสร้างโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร บนที่ดินย่านปทุมธานี มูลค่า 500 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2563 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเข้ามาเสริมการให้บริการลูกบ้านและลูกค้าในพื้นที่รอบๆโครงการที่อยู่อาศัยที่บริษัทพัฒนา

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยในปี 2563 นั้นบริษัทฯ คาดหวังว่าจะโอนโครงการให้ได้มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ได้แก่ การโอนโครงการคอนโดมิเนียม QUINN สุขุมวิท 101 มูลค่า 2,500 ล้านบาท และการโอนโครงการแนวราบในโครงการที่ปทุมธานี  ในส่วนของที่ดินเปล่าที่บริษัทฯยังมีอยู่และไม่ได้พัฒนา ได้แก่ ที่ดินในภูเก็ต และที่ดินในปทุมธานี รวมกว่า 1,000 ไร่ บริษัทนำมาทำเกษตรกรรม โดยการปลูกพืชเกษตร เพื่อสร้างรายได้เข้ามาให้กับบริษัท และเป็นการลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กระทบต่อบริษัทฯในส่วนนี้ด้วย

วอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว

ด้านนางสาวพราวพุธ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร บริษัท พราวด์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรม Holiday Inn และ Intercontinental Hua Hin Resort กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ยอมรับว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในประเทศไทย ต่างได้รับผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ ซึ่งรวมไปถึงโรงแรมของบริษัทฯด้วย โดยแบ่งผลกระทบเป็น 2 ช่วง คือ

-ผลกระทบในระยะสั้น ที่เกิดปัญหามาตั้งแต่ช่วงเทศกาลตรุษจีน เมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเดิมมียอด Booking จากลูกค้าชาวจีนเข้ามาพักในโรงแรมทั้ง 2 แห่งข้างต้นแล้วเป็นจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วน 50-60% จากที่ลูกค้าที่มียอดจองทั้งหมด แต่พอเกิดเหตุการณ์ไวรัส โคโรนา ลูกค้าชาวจีนก็ยกเลิกการเข้าพักทั้งหมด ซึ่งทางโรงแรมก็ไม่ได้มีการเก็บค่าปรับแต่อย่างใด

-ผลกระทบระยะยาว ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานเพียงใด ซึ่งทางโรงแรมก็ต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอด โดยทางโรงแรมโชคดีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หัวหิน ที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย เมื่อเทียบกับภูเก็ตที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ แต่ในมุมมองนั้น หากนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆมีความตื่นตระหนกในเรื่องไวรัส โคโรนา ก็อาจจะส่งผลให้ไม่มียอด Booking เข้ามา ถือเป็นผลกระทบระยะยาว

อย่างไรก็ตามในภาพรวมนั้นมองว่ารัฐบาลก็มีความพยายามที่จะนำมาตรการต่างๆออกมาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ก็เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นดีมานด์ในประเทศได้ในระดับหนึ่ง  แต่บริษัทฯเองก็ต้องปรับตัวด้วยการหาดีมานด์ใหม่มาทดแทนดีมานด์เดิมที่หายไป ด้วยการหันไปเจาะลูกค้าชาวต่างชาติมากขึ้น
“อยากให้ภาครัฐสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ว่าเมืองไทยยังสามารถท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย เมื่อมีนักท่องเที่ยวก็จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็มีความเข้าใจและหามาตรการมาช่วยเหลือในระยะสั้น อาทิ ให้จ่ายอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ต้องจ่ายเงินต้น”นางสาวพราวพุธ กล่าวในที่สุด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*