“แบงก์ชาติชี้ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ และประกาศปรับมาตรการ LTV และเกณฑ์เงินกองทุนช่วยประชาชนที่กู้ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง”

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยประจำปี 2562 โดยชี้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ความเสี่ยงในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนานขึ้น ซึ่งจะเอื้อต่อการสะสมความเปราะบางในด้านต่าง ๆ ได้แก่

(1) หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ซึ่งมีแนวโน้มด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ

(2) พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) จนอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยนักลงทุนบุคคลซึ่งอาจไม่ได้รับข้อมูลความเสี่ยงอย่างครบถ้วน

(3) สหกรณ์ออมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่องและมีความเชื่อมโยงกันเองผ่านการรับฝากและปล่อยกู้ระหว่างกัน ซึ่งอาจเป็นข้อต่อในการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบสหกรณ์ โดยเฉพาะจากสหกรณ์ออมทรัพย์กลุ่มที่ขาดสภาพคล่อง และ

(4) ภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน ปี 2562 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ยังขยายตัวได้โดยผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรกไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่การเก็งกำไรชะลอลงและมาตรฐานการให้สินเชื่อรัดกุมขึ้นโดยเฉพาะการกู้ซื้อบ้านพร้อมกัน 2 หลังขึ้นไป ในระยะต่อไปยังต้องติดตามภาวะอุปทานคงค้างโดยเฉพาะอาคารชุดในบางพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างชาติและมีอุปทานคงค้างสูงตั้งแต่ก่อนมาตรการ LTV

ในส่วนของมาตรการ LTV ธปท. ได้พิจารณาข้อมูลหลักฐาน (evidence-based) จากการติดตามสถานการณ์และรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง และพร้อมปรับมาตรการหากพบว่าไม่เป็นตามวัตถุประสงค์ ส่งผลข้างเคียงมากเกิน หรือกระทบต่อผู้ต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ธปท. ได้ผ่อนปรนกรณีกู้ร่วม หากผู้กู้ร่วมไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนั้น ในครั้งนี้ ธปท. ได้ปรับมาตรการ LTV เพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ประชาชนกู้บ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงได้ง่ายขึ้น และบนพื้นฐานของหลักการและวัตถุประสงค์ของการมีมาตรการในการดูแลการเก็งกำไรและส่งเสริมการออมของประชาชน ดังนี้

(1) ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกได้ง่ายขึ้นและช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัย โดยในการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท แม้ว่ายังคงเพดาน LTV 100% สำหรับสินเชื่อบ้าน แต่ผู้กู้สามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าหลักประกันสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัยจริง เช่น การตกแต่งบ้าน การซ่อมแซมหรือต่อเติม ซึ่งหนี้ส่วนนี้เมื่อกลายเป็นหนี้ที่มีบ้านเป็นหลักประกันจะมีดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้แบบไม่มีหลักประกัน นอกจากนี้ กำหนดให้วางดาวน์น้อยลงจาก 20% เป็น 10% สำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่มีราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป

(2) ดูแลผู้ที่จำเป็นต้องมีบ้าน 2 หลังที่มีวินัยในการผ่อนชำระหนี้สัญญาที่ 1 มาแล้วพอสมควรให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ขณะที่ยังคงส่งเสริมให้มีการออมก่อนกู้ โดยผ่อนเกณฑ์ให้การกู้ซื้อบ้านสัญญาที่ 2 ที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ต้องมีเงินดาวน์ 10% หากผ่อนชำระสัญญาที่ 1 มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี (จากเดิมกำหนด 3 ปี) อย่างไรก็ดี ยังไม่เหมาะสมที่จะยกเลิกเพดาน LTV สำหรับการกู้ซื้อบ้านสัญญาที่ 2 เพราะจากข้อมูลพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้กู้ซื้ออาคารชุด 2 หลังพร้อมกันมีระยะห่างระหว่างการกู้สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ไม่ถึง 1 ปี สะท้อนว่าเป็นการกู้เพื่อเก็งกำไรมากกว่าเพื่ออยู่อาศัยจริง

นอกจากนี้ ธปท. ได้ปรับหลักเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงสำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และการกู้สร้างบ้านบนที่ดินปลอดภาระ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้กลุ่มดังกล่าวมากขึ้น ทั้งนี้ การปรับครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >>>>FSR62 Media Briefing_20 Jan 2020_final

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*