ในครั้งนี้เราจะคุยกันต่อถึง
การบริหารเงินกองทุนของโครงการให้งอกเงย และการบริหารทรัพย์สินส่วนกลางให้เกิดรายได้ ซึ่งอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม ตามข้อบังคับและพระราชบัญญัติอาคารชุดนิติบุคคลอาคารชุด ต้องเรียกเก็บทั้ง “ค่าส่วนกลาง” (Common Fee) และ “เงินกองทุน” (Sinking Fund) กับผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุด โดยนำค่าส่วนกลางมารองรับค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลางตามปกติ และการให้บริการแก่เจ้าของร่วม เช่น ค่าใช้จ่ายด้านบริการรักษาความปลอดภัย การดูแลความสะอาด การจัดการสวนหย่อม ส่วนเงินกองทุนถือเป็นเงินอีกก้อน ซึ่งเรียกเก็บกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ซื้อห้องชุดทุกราย เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินก้อน เช่น ค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงระบบวิศวกรรมอาคาร ระบบไฟฟ้า ประปา ตลอดจนเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิต และการจัดการทรัพย์สินของโครงการ
โดยในส่วนของการบริหารจัดการโครงการ ทางนิติบุคคลสามารถนำเงินกองทุนมาบริหารจัดการให้งอกเงยได้ เช่น การนำไปลงทุน อาทิ เงินฝากประจำ ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนไม่สูงแต่ข้อดีคือมีความเสี่ยงต่ำ รวมถึงการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเงินฝากประจำและมีความเสี่ยงต่ำก็มีอยู่หลายวิธี เช่น การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือการลงทุนในกองทุนที่การันตีผลตอบแทนและการันตีคืนเงินต้น 100%

นอกจากการลงทุนข้างต้นแล้ว การบริหารทรัพย์สินของโครงการให้งอกเงยอีกทางหนึ่งก็คือการหารายได้เพิ่ม เช่นการนำพื้นที่ส่วนกลางไปสร้างรายได้ในรูปแบบการใช้หรือให้เช่าสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการเช่าพื้นที่วางป้ายประกาศโฆษณาเพื่อการพาณิชย์ การให้เช่าสื่อลงโฆษณาอย่างจอแอลอีดีในลิฟต์หรือจอที่อยู่บริเวณพื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น รวมถึงการหารายได้จากการให้เช่าพื้นที่ในโครงการสำหรับการพาณิชย์ เช่น การตั้งเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญไว้บริการลูกบ้าน การติดตั้งตู้เครื่องดื่ม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับโครงการ   นอกจากนี้ยังมีการหารายได้เสริมโดยบริหารการจองใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของลูกบ้านในกรณีพิเศษ เช่นการจองห้องเอนกประสงค์สำหรับจัดงานวันเกิดส่วนตัว การบริหารจัดเก็บค่าที่จอดรถสำหรับผู้มาติดต่อ หรือการจัดเก็บค่าที่จอดรถคันที่ 2 โดยจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอาคารชุด

การบริหารค่าส่วนกลางและเงินกองทุนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพการดูแลโครงการหากโครงการนั้นมีงบประมาณส่วนกลางที่พอเพียงและเหมาะสม นิติบุคคลก็จะสามารถบริหารจัดการบำรุงรักษาโครงการและทรัพย์สินภายในให้คงอยู่ในสภาพดี และเกิดประโยชน์สูงสุดกับเจ้าของร่วม และสุดท้ายคือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการได้ ซึ่งนอกจากการวางแผนทางการเงินให้เหมาะสมและรัดกุมแล้ว การหารายได้เสริมเพื่อให้งบประมาณส่วนกลางและเงินกองทุนงอกเงย ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้โครงการแห่งนั้นมีสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อผู้อยู่อาศัยและเจ้าของร่วมทุกท่านค่ะ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*