ราคาค่าเช่าสำนักงานเกรดเอในย่านศูนย์กลางธุรกิจเฉลี่ยยังสูงอยู่ ในขณะที่ราคาค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าเฉลี่ยสูงถึง 3,915 บาท/ตร.ม./เดือน คาดภายใน 5 ปีซัพพลายใหม่จ่อเข้าตลาดอีกกว่า 1.78 ล้านตารางเมตร ด้านตลาดศูนย์การค้าแม้การแข่งขันสูง แต่แนวโน้มยังสดใสจากกำลังซื้อคนไทย-ตปท. ผู้ประกอบการต้องเผชิญความท้าทายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและแบรนด์ต่างชาติเข้ามาตีตลาด
นายธีระวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ มีการปรับตัวกันค่อนข้างมาก มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 9 ล้านตารางเมตร โดยเป็นอาคารเกรด เอ และ บี จำนวน 6.08 ล้านตารางเมตร ซึ่งยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของราคาค่าเช่าที่มีการปรับตัวสูงขึ้น และอัตราว่างของพื้นที่ที่อยู่ในระดับต่ำมาตลอดหลายปี ทำให้ในปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาอาคารสำนักงานให้เช่าเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะมีซัพพลายใหม่จ่อเข้าตลาดกว่า 1.78 ล้านตารางเมตร ในอีก 5 ปีข้างหน้า

โดยปัจจุบัน มีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยทั้งกรุงเทพฯ ประมาณ 94% และราคาค่าเช่าเฉลี่ยที่ 800 บาท/ตารางเมตร/เดือน แต่หากพิจารณาเฉพาะอาคารสำนักงานเกรดเอที่อยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจเท่านั้น พบว่า ค่าเช่าเฉลี่ยในปีนี้ปรับตัวขึ้นประมาณ 5% จากสิ้นปีที่แล้ว ไปอยู่ที่ประมาณ 1,080 บาท/ตารางเมตร/เดือน และอัตราการเช่าพื้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยที่ 95% และจากการสำรวจยังพบความต้องการในการเช่าอาคารสำนักงานเกรดเอ ในย่านศูนย์กลางธุรกิจอีกมาก ทำให้ราคาค่าเช่าของบางอาคารพุ่งสูงขึ้น เช่น เกษร ทาวเวอร์ มีราคาค่าเช่าแพงที่สุดที่ 1,600 บาท/ตารางเมตร/เดือน ซึ่งในย่านเพลินจิต พระราม 1 และวิทยุ ยังคงได้รับความสนใจจากผู้เช่าสูงอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากอาคารสำนักงานส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีอายุอาคารมากกว่า 20 ปี อุปทานใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาในตลาดจะช่วย Refresh ตลาดให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อุปทานใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในตลาดโดยส่วนมาก จะถูกพัฒนาในรูปแบบโครงการอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูส มีการเพิ่มพื้นที่รีเทลในชั้นล่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เช่าให้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ มีส่วนประกอบของโครงการที่หลากหลาย โดยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จะได้เห็นโครงการสำคัญ ๆ หลายโครงการพร้อมใช้งาน อาทิ ศุภาลัย ไอคอน บนพื้นที่สถานทูตออสเตรเลียเดิม, วัน แบงค็อก อภิมหาโปรเจกต์จาก TCC, เดอะ ฟอเรสเทียส์ โครงการเมืองในป่าแห่งแรกของเมืองไทย, แบงค็อกมอลล์ เมกะโปรเจกต์ จาก เดอะมอลล์ กรุ๊ป, และ เอ็มสเฟียร์ จิ๊กซอว์ส่วนสุดท้ายของ ดิ เอ็มดิสทริค ทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานอาคารสำนักงานในไทยมากยิ่งขึ้น

สำหรับตลาดพื้นที่ศูนย์การค้า  ถึงแม้ปัจจุบันภาวะหนี้ครัวเรือนในไทย จะยังคงสะสมอยู่ในระดับสูงและตัวเลขที่ลดลงของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ แต่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังเข้ามาเป็นแรงสนับสนุนตลาดค้าปลีกให้เติบโตในช่วงปีที่ผ่านมา โดยครึ่งปีหลัง2562 สถิตินักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นทั้งในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยว และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นกลุ่มหลัก ๆ ที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยมีผลมาจากการขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa on Arrival) ออกไปอีก 6 เดือน การประท้วงที่ยืดเยื้อของฮ่องกง รวมถึงการขึ้นภาษีของญี่ปุ่น ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากสถิติกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า 9 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน  29.47 ล้านคน ขยายตัว 3.51% และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 1.42 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3 – 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

จากการสำรวจพบว่า ตลาดพื้นที่ศูนย์การค้ายังคงเติบโตอย่างสม่ำเสมอ โดยอัตราการเช่าพื้นที่ร้านค้ายังคงอยู่ในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านศูนย์กลางทางการค้า หรือ สยาม-ราชประสงค์-พร้อมพงษ์ ที่ยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและมีการแข่งขันสูง เนื่องจากย่านศูนย์กลางทางการค้ายังคงเป็น Destination ที่สำคัญแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้กำลังซื้อยังคงมีอยู่มาก โดยมีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยสูงกว่า 95%

ซึ่งจากการแข่งขันที่สูงมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ร้านค้า หรือแม้แต่ผู้ประกอบการศูนย์การค้า หันมาให้ความสนใจในการเรียกเก็บค่าเช่าแบบ GP (Gross Profit) มากขึ้น โดยการเรียกเก็บค่าเช่าแบบ GP จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าเช่าให้กับร้านค้าได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ศูนย์การค้าใหญ่ ๆ จะมี Minimum guarantee หรือ Based rent กำหนดให้แก่ร้านค้าเมื่อทำสัญญาเช่า ทำให้ร้านค้าจำเป็นจะต้องทำยอดขายให้ได้ ซึ่งเป็นผลดีทั้งต่อร้านค้าและศูนย์การค้า และจากการสำรวจของเน็กซัสฯ พบว่าราคาค่าเช่าเฉลี่ยชั้น G ในย่านศูนย์กลางทางการค้าปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,915 บาท/ตารางเมตร/เดือน สูงขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการพื้นที่ศูนย์การค้ายังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากตลาดสินค้าออนไลน์ การบริการส่งอาหารที่ปัจจุบันมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และรวมไปถึงอุปทานใหม่ๆ ที่จะแบ่งกำลังซื้อออกไป ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องสร้างสิ่งดึงดูด สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการ และขณะเดียวกันร้านค้าแบรนด์ไทยก็ยังต้องเผชิญความท้าทายจากแบรนด์ต่างชาติที่ให้ความสนใจเข้ามาเปิดในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเปิดอย่างหลากหลาย อาทิ ดองกิ มอลล์ (Donki Mall), ทิม ฮอร์ตันส์ (Tim Horton), อี้ ฟาง (Yi Fang), ทาโก้ เบลล์ (Taco Bell), ไทเกอร์ชูก้า (Tiger Sugar), ดิ แอลลี่ (The Alley), และ ซิง ฝู่ ถัง (Xing Fu Tang) เป็นต้น

 

ในปีนี้ ตลาดพื้นที่พาณิชยกรรมมีอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดหลายแห่งกว่า 280,000 ตารางเมตร เช่น วัน-โอ-วัน เดอะเทิร์ด เพลส (101 the third place), ดอง ดอง ดองกิ (Don Don Donki), เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก (The Market Bangkok), สามย่านมิตรทาวน์ (Samyan Mitrtown), เซ็นทรัล วิลเลจ (Central Village) และ แอม ไชน่าทาวน์ (I’m Chinatown) และคาดว่าจะมีโครงการใหม่ ๆ ทยอยเข้ามาสู่ตลาดในอีก 3 ปีข้างหน้าอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 400,000 ตารางเมตร โดยมีโครงการที่น่าจับตามองหลายโครงการ อาทิ เอ็มสเฟีร์ย (EmSphere), วันแบงค็อก (One Bangkok), และ สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต แบงค็อก (Siam Premium Outlets Bangkok)

โดยภาพรวมแล้ว ตลาดพื้นที่ศูนย์การค้าของกรุงเทพฯ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเน้นการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค ที่หาไม่ได้จากโลกออนไลน์ หรือการเดลิเวอรี่ การตอบสนองที่ตรงใจลูกค้าและความรวดเร็วในการบริการ รวมไปถึงการสร้างและรักษาความสัมพันธ์แก่ลูกค้า และการรักษาพร้อมพัฒนาสินค้าให้อยู่ในระดับแข่งขันได้อีกด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*