ท่ามกลางสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวทั้งภาคการส่งออก การใช้จ่ายในประเทศ รวมทั้งแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำสะท้อนความเปราะบางทางเศรษฐกิจของไทย แม้ว่าภาครัฐจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แต่มาตรการดังกล่าวเป็นการประคับประคองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ให้ไถลลงไปมากกว่านี้ ซึ่งมองไปข้างหน้า ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูงทั้งประเด็นด้านสงครามการค้า ตลอดจน Brexit ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แม้ว่าประเด็นดังกล่าวจะเริ่มมีสัญญาณบวกบ้างก็ตาม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 1.50% เหลือ 1.25% ในการประชุมรอบนี้

พัฒนาการเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะผลจากภาคการส่งออกที่ชะลอลงเริ่มส่งผลต่อการจ้างงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ พัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยังบ่งชี้ ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอลงเทียบกับช่วงการประชุมนโยบายการเงินในครั้งก่อน โดยการชะลอลงในภาคการส่งออกได้ส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริงชัดเจนขึ้นอันสะท้อนผ่านการผลิตที่หดตัว 5 เดือนติดต่อกันและเริ่มลุกลามไปสู่ภาคการจ้างงาน โดยเฉพาะจำนวนผู้มีงานทำนอกภาคการเกษตรของไทยที่ปรับลดลงติดต่อกันกว่า3 เดือน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนมากขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่ทิศทางอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนตุลาคมที่ขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 2ปีโดยขยายตัวเพียง 0.11% YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ระดับ0.74 %เทียบปีต่อปี( YoY) อาจบ่งชี้ ถึงความสามารถของผู้ประกอบการในการตั้งราคาสินค้าที่ถดถอยลง อันสะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการเติบโตการบริโภคในระยะข้างหน้าเช่นกัน

นอกจากนี้ผลของค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกือบ 8.0% YTD จากช่วงปลายปี 2562 เป็ นอีกปัจจัยที่กดดันการส่งออก ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยบรรเทาต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการภาคส่งออก แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้มากนัก

เครื่องมือในการดูแลด้านจุลภาคและมหภาคของภาคการเงินเฉพาะจุด(Macro and MicroPrudential) ที่มีอยู่เพียงพอในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ผลของมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) อันสะท้อนผ่านยอดการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้ นไปที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก อันช่วยลดพฤติกรรมการประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไปของสถาบันการเงินตลอดจน ลดความเปราะบางของจากการเป็นหนี้ ที่สูงของภาคครัวเรือนไปได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวคงช่วยให้ให้การดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวทำได้ดีขึ้น อันเปิดโอกาสให้กนง. สามารถที่จะใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยเสียงเชิงเสถียรภาพยังสามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด

มองไปข้างหน้า ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินไทยในปี 2563 คงอยู่ที่พัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงจากประเด็นทางการค้าและทิศทางของพัฒนาการเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงอยู่ แม้ว่าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนประเด็น Brexit จะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่คงไม่ได้เปลี่ยนภาพเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ประเด็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องจากประเด็นค่าเงินบาทที่แข็งค่า ผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ส่งผ่านมายังการจ้างงานและกำลังซื้อของครัวเรือนในประเทศ ซึ่งประเด็นข้างต้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง. ยังคงมีพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำล่าสุดก็ตาม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*