ฮิตาชิฯเล็งศักยภาพกัมพูชา จีดีพียังเติบโตสูง เดินเครื่องรุกตลาดลิฟต์ระดับบนต่อเนื่อง ไม่หวั่นจีนกินส่วนแบ่งตลาดล่าง เน้นขายตรงลูกค้ามากกว่าผ่านกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ชูคุณภาพบริการหลังการขาย ตั้งเป้าขึ้นแท่นเบอร์ 3 ใน 3 ปี ครองส่วนแบ่งการตลาด 25 % 
นายศักดิ์ชาย  วรสง่าศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (กัมพูชา) จำกัด  ผู้จำหน่าย   และให้บริการลิฟต์และบันไดเลื่อน  ภายในกรุงพนมเปญ  เปิดเผยว่า “กัมพูชาแม้จะเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่นัก   เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆของไทย แต่ก็เป็นประเทศที่มีความสำคัญอย่างมาก GDP มีอัตราการเติบโต 6-7% ต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะ อุตสาหกรรม สิ่งก่อสร้าง ประกอบกับการนักลงทุนยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนกันอย่างต่อเนื่อง ในหลากหลายธุรกิจถึงมากกว่า 50% ส่งผลให้กัมพูชา เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยประชากรประมาณ 17 ล้านคน 75% เป็น “คนจน” ขณะที่มี “คนรวย” มีไม่ถึง 10% ส่วนที่เหลือคือ “คนชั้นกลาง” แต่คนชนชั้นสูงของที่นี่มีกำลังซื้อสูงมาก โดยเฉพาะเพราะกลุ่ม “ไฮโซขแมร์” มีตั้งแต่เศรษฐีเก่า เศรษฐีใหม่ นักการเมือง นักธุรกิจ เจ้าของกาสิโน ลูกหลานคนรวยผู้ไม่เคยผ่านสงครามกลางเมือง ซึ่งวันนี้ขยับมาเป็น “นักธุรกิจรุ่นใหม่” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบัน กลุ่มชนชั้นสูงดังกล่าว จึงมี   การแข่งขันลงทุนในธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะคอนโดฯที่มีมากสุด หากเป็นโครงการขนาดใหญ่ก็จะเป็นการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนกัมพูชา ที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดินร่วมทุนกับนักลงทุนจีน ซึ่งรวมไปถึงโครงการมิกซ์ยูส ที่มีการพัฒนามากในช่วงปี2561 ที่ผ่านมา ส่วนห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมทุนระหว่างเจ้าของที่ดินกัมพูชาและนักลงทุนจากญี่ปุ่น

 

สำหรับตลาดลิฟต์ในกัมพูชาจะเป็นตลาดเปิด ยังไม่มีกฎหมาย หรือ ข้อกำหนด มาตรฐาน ควบคุมการซื้อ ขายติดตั้ง ลิฟต์ และบันไดเลื่อน ดังนั้น การนำเข้า จากประเทศต่างๆ สามารถนำเข้ามาขายได้อย่างเสรี  ลูกค้า มีสิทธิ์เลือกซื้อ ได้จากผู้แทนจำหน่าย ที่มีจำนวนมากมายในประเทศ  รวมถึง สามารถสั่งซื้อตรง ได้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะ จากประเทศ จีน และ เวียดนาม ซึ่งมีราคาถูกมาก เนื่องจากกัมพูชาเพิ่งมีการติดตั้งลิฟต์ไม่เกิน 10 ปี  การสร้างตึกสูง เพิ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วใน ระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นลูกค้าที่กัมพูชาจึงยังไม่มีประสบการณ์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มากนัก ผู้บริโภคส่วน ใหญ่ของตลาดจึงเน้นที่ราคาถูก

ด้วยความ ที่ฮิตาชิเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น และมีโรงงานผลิตที่ประเทศไทย มีกำลังการผลิตลิฟต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยและต่างประเทศ จำนวน 2,500 ตัว/ปี ทำให้เป็นที่ยอมรับในเรื่องของคุณภาพ และความปลอดภัยโดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน  ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัทฯ และมองว่ากัมพูชา เป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุน และน่าจับตามองเป็นอย่างมาก จึงได้ก่อตั้ง บริษัท ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (กัมพูชา) จำกัด  ขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 และเข้าไปทำตลาดลิฟต์และบันไดเลื่อนเมื่อปี 2560 เจาะกลุ่มเป้าหมายระดับบน แบ่งเป็นผู้บริโภคโดยตรง สัดส่วนกว่า 90% และที่เหลือเป็นการขายผ่านผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือแยกเป็นประเภทที่อยู่อาศัย สัดส่วน 50% อาคารสำนักงาน 20% และคาสิโน 30%  ระดับราคาขายเริ่มต้นที่ 1.2-7 ล้านบาท/ตัว (ขึ้นอยู่กับความเร็วและความสูงของอาคาร) โดยราคาจะสูงกว่าในประเทศไทยประมาณ 10-20%

“ลิฟต์ของ ฮิตาชิ จะเน้นความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้า ดังนั้น การทำธุรกิจในกัมพูชาต้องมีความจริงใจกับผู้บริโภค ขายสินค้าที่มีคุณภาพ การสร้างความพึงพอใจของบริการหลังการขาย  และการใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสม ซึ่งผมเลือกใช้ การสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ประกอบการภาคก่อสร้าง นักลงทุน  วิศวกร และสถาปนิกรุ่นใหม่ เป็นหลัก ซึ่งสินค้า ฮิตาชิ แบรนด์ ญี่ปุ่น ที่ผลิตจากประเทศไทย เป็นจุดแข็งที่สร้างความมั่นใจ ให้แก่ลูกค้า  ตลาดที่นี่ แบ่งออกชัดเจน Brand Inter ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ถือว่าเป็นสินค้าคุณภาพ ราคาสูง เมื่อเทียบกับสินค้าจากจีน ที่มีราคา ต่ำกว่า 20-50%ซึ่งตลาดนี้เราไม่ถือเป็นคู่แข่งขันโดยตรง เพราะราคาที่ แตกต่าง ดังนั้น ฮิตาชิ จึงมุ่งเน้น ที่คุณภาพ ทั้งตัวสินค้า และ การบริการหลังการขาย เพื่อสร้างความมั่นใจและรักษาระดับราคาสำหรับลูกค้า กลุ่ม A และ B + เป็นหลัก” นายศักดิ์ชาย กล่าว

ภาพรวมตลาดลิฟต์ในกัมพูชามีดีมานด์ไม่ต่ำกว่า 1,500 ตัว โดยปัจจุบันบริษัทฯมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 9% และตั้งเป้าภายในระยะเวลา 3 ปีจะขึ้นเป็นอันดับ  3 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 25% หรือมียอดขายประมาณ 400-500 ตัว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 4 จากปี 2560 ที่ผ่านมาบริษัทฯสามารถทำยอดขายได้ 50 ตัว และขยายตัวขึ้นในปี 2561 เป็น 100 ตัว  ซึ่งในปี 2562  นี้ บริษัทฯตั้งเป้าหมายไว้ที่ 150 ตัว โดยในครึ่งปีแรก 2562 สามารถทำยอดขายได้แล้ว 80 ตัว คิดเป็นอัตราการเติบโตปีละประมาณ 20-30% ในส่วนของการบริการหลังการขายปัจจุบันบริษัทฯดูแลลิฟต์กว่า 200 ตัว

สำหรับผลประกอบการในประเทศเมียนมา ซึ่งเข้าไปทำตลาดเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ตั้งยอดขายที่ 60 ตัว ขณะที่ประเทศเวียดนาม ที่เข้าไปทำตลาดเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 400-500 ตัว และสปป.ลาว ที่เข้าไปทำตลาดได้ 1 ปี ในปีนี้จึงตั้งเป้ายอดขายที่  50 ตัว

“ส่วนสำคัญที่จะนำให้เราก้าวไปสู่เป้าหมายที่เราวางไว้ นันคือเรื่องของบุคลากร เนื่องจากเราเป็นงาน     ด้านการบริการ นอกจากสินค้าดีแล้วบริการต้องเป็นที่ประทับใจ ด้วยความต่างของ  Gen และวัฒนธรรมเราจึงเน้นความสัมพันธ์ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในความสำเร็จ การระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดแบบตรงไปตรงมาและ Coaching เพื่อให้เกิดมุมมองที่แตกต่างมากกว่าบอกวิธีการโดยตรง การดูแลเอาใจใส่เหมือนครอบครัวเดียวกัน และมีการประเมินผลงานเพื่อตอบแทนศักยภาพของแต่ละคน” นายศักดิ์ชาย กล่าวในที่สุด

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*