กรมการขนส่งทางราง แนะผู้ประกอบการอสังหาฯพิจารณาข้อมูลก่อนลงทุนโครงการแนวรถไฟฟ้า หวั่นซ้ำรอยสายสีม่วง เดินหน้าสร้างโครงข่ายพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล M-MAP ให้แล้วเสร็จตามกำหนด เชื่ออนาคตราคาที่ดินพุ่งมหาศาล ทั้งเร่งศึกษา M-MAP 2 เชื่อมพื้นที่ 7 จังหวัดเข้าสู่ใจกลางกรุง คาดใช้เวลา 2 ปีเสนอครม.พิจารณา
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดี กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2019” ซึ่งจัดโดยสมาคมอาคารชุดไทย ภายใต้หัวข้อ “อนาคตของการขนส่งระบบรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”  ว่าการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้าผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาให้ดี ถ้าตัดสินใจเร็วไปก็อาจจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งมีการลงทุนก่อสร้างไปกิโลเมตรละกว่า 1,900 ล้านบาท รวม 26 กิโลเมตร ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการ 100,000 คน/วัน  แต่เปิดบริการจริงแรกๆ มีผู้ใช้บริการเพียง 20,000 คน/วัน  ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 คน/วัน  ซึ่งบ่งชี้ว่าไม่ได้แย่กว่าที่คิด ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา จึงอยากจะให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พิจารณาให้ดีก่อนที่จะพัฒนาโครงการ

ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจาก 124 กิโลเมตร  เป็น 298 กิโลเมตร  และที่อยู่ระหว่างการประกวดราคารวมกันแล้วอีกประมาณ 400 กิโลเมตร  นอกจากนี้ ยังเชื่อมการขนส่งออกไปยังภูมิภาค ทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง รวมกันอีกกว่า 400 กิโลเมตร

ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล M-MAP+เพิ่มเติม : 2553-2572 อนุมัติแล้ว 14 เส้นทาง  รวมระยะทาง 557.56 กิโลเมตร โดยเปิดดำเนินการแล้ว 5 เส้นทาง ระยะทาง 124.8 กิโลเมตร ,อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 8 เส้นทาง ระยะทาง 173.88 กิโลเมตร,อยู่ระหว่างกระบวนการประกวดราคา 6 เส้นทาง ระยะทาง 101.5 กิโลเมตร ,อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) 1 เส้นทาง ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และโครงข่ายส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ระยะทาง 60 กิโลเมตร

“แผนแม่บทนี้จะเป็นการลดปัญหาจราจร และทำกรุงเทพฯให้หลวม ซึ่งจะเกิดจุดตัดของโครงข่ายรถไฟฟ้ารวมกันทั้งหมด 53 จุด กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ เหมือนที่เกิดขึ้นที่สยามสแควร์  อย่างเช่น ที่ร่มเกล้า ซึ่งเป็นจุดตัดของรถไฟฟ้าสายสีส้มกับสายชมพู จะกลายเป็นเมืองใหม่ในอนาคต” นายสรพงศ์ กล่าว

สำหรับรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน สายสีเขียวตอนเหนือจากห้าแยกลาดพร้าวไปยังคูคต ซึ่งได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบ คาดว่าปลายปี 2562นี้จะเปิดให้บริการไปถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีแผนที่จะดำเนินการต่อไปถึงลำลูกกา คลอง 5 แต่ต้องรอให้ความหนาแน่นในพื้นที่มากกว่านี้ก่อน เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวทางใต้ ที่มีแผนจะขยายไปถึงบางปู ซอย 95  แต่ก็ต้องรอเวลาอีกสักระยะหนึ่งเช่นกัน

ส่วนรถไฟ้ฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5+2.8 = 37.3 กิโลเมตร  ณ เดือนสิงหาคม 2562 มีความคืบหน้าด้านการก่อสร้างแล้ว 42.15% งาน M&E คืบหน้า 33.24% มีจุดตัดกับสายอื่นถึง 4 สาย บริเวณแคราย หลักสี่(วิภาวดี) หลักสี่ (พหลโยธิน) และมีนบุรี คาดว่าจะให้บริการได้ในปี 2564

สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4+2.6 = 33 กิโลเมตร ความคืบหน้า ณ เดือนสิงหาคม 2562 งานโยธาคืบหน้าแล้ว 41.77% งาน M&Eคืบหน้าแล้ว 33.24% ซึ่งพื้นที่นี้มีผู้อยู่อาศัยค่อนข้างมาก แต่การก่อสร้างต้องประสบปัญหาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะท่อประปาที่อยู่ใต้พื้นถนน ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเคลื่อนย้ายออกเป็นปี  แต่ภาคเอกชนที่ดำเนินการก่อสร้างมีความเชี่ยวชาญมาก จึงสามารถผ่านอุปสรรคไปได้ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ไม่เกินปี 2565 ต้นปี จากแผนเดิมจะเปิดในปี 2564

อีกโครงการที่กระทรวงพยายามขับเคลื่อนคือ สายสีม่วงตอนล่าง ซึ่งถือเป็นสายสำคัญอีกสาย เพราะจะวิ่งผ่ากลางพระนคร บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งผ่านสถานที่สำคัญๆ ซึ่งเป็นสถานที่อนุรักษ์ เช่น หอสมุดแห่งชาติ วัดบวรนิเวศ ไปตัดกับสายสีส้มใกล้ๆ กับสะพานผ่านฟ้า บริเวณดังกล่าวจะกลายเป็นจุดตัดใหญ่ แต่การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านสถานที่อนุรักษ์หลายแห่ง ส่วนปลายสายนั้น เดิมจะอยู่ที่ราษฎร์บูรณะได้ต่อขยายไปถึงครุใน และสุดท้ายวิ่งไปถึงวงแหวนรอบนอกด้านใต้ เพื่อใช้เป็นสถานีซ่อมบำรุง

ส่วนสายที่สำคัญที่สุด คือ สายสีแดง ซึ่งจะมีการก่อสร้างสถานีกลางตรงบริเวณบางซื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมระดับภูมิภาคอาเซียน และเชื่อมต่อไปถึงจีน และ อินเดีย ซึ่งจะเปิดให้บริการในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือในปี 2564 และจะเป็นสถานีกลางที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดครึ่งหนึ่งของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีรถไฟในเมืองผ่าน 5 สายทาง จะทำให้พื้นที่บริเวณ บางซื่อ-บางโพ ราคาที่ดินจะเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เปรียบเสมือน ชินจูกุ ฮาราจูกุ ของประเทศไทย

นอกจากการการพัฒนาระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯแล้ว กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายในการลดภาระค่าโดยสารในการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมฯที่จะต้องไปศึกษาข้อมูลว่าจะดำเนินการลดค่าเชื่อมต่อเส้นทางต่างๆได้อย่างไรบ้าง

“ขณะนี้กระทรวงกำลังพิจารณาแนวทางอยู่ โดยจะให้การเดินทางโดยรถไฟฟ้าจะเสียค่าเชื่อมต่อแค่ครั้งเดียว คือค่าแรกเข้าประมาณ 15-16 บาท โดยได้เชิญผู้ให้บริการมาหารือแนวทางจะทำอย่างไรให้สามารถค่าโดยสารได้เร็วๆ ล่าสุด ผู้บริการแอร์พอร์ตลิงค์ สายสีม่วง สายสีน้ำเงิน จะนำระบบตั๋วเดือนมาใช้ในระยะสั้นลดค่าโดยสารได้ 10-15% ส่วนระยะยาวต้องใช้เวลาในการคุยกันต่อ” นายสรพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ ในอนาคตสำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูนั้นในสัญญาสัมปทานระบุว่า ในกรณีที่ผู้เดินทางมากจากรถไฟฟ้าสายอื่น เช่น จากสายสีน้ำเงินมาเชื่อมต่อกับสายสีเหลือง จะต้องไม่เก็บค่าแรกเข้า ซึ่งจะทำให้จ่ายค่าแรกเข้าแค่ครั้งเดียว หรือผู้ที่เดินทางจากสายสีเหลืองมาต่อสายสีน้ำเงินก็จะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว

สำหรับแผนการพัฒนารถไฟฟ้าในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 โดยได้รับการสนับสนุนจาก องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) จะขยายรัศมีพื้นที่ศึกษาออกไปอีก 20 กิโลเมตร เป็น 40 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ นครปฐม,นนทบุรี,ปทุมธานี,สมุทรปราการ,สมุทรสงคราม,พระนครศรีอยุธยาและฉะเชิงเทรา โดยข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่ ตาม M-MAP2 เพิ่มเติมเบื้องต้น 5 สาย รวมระยะทาง 131 กิโลเมตร ได้แก่

1.สายรังสิต-ธัญบุรี ระยะทาง 12 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเติบโตของพื้นที่เทศบาลนครรังสิต และอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และยังเชื่อต่อกับรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2.ส่วนต่อขยายสายสีเทา ช่วงรามอินทรา-ลำลูกกา ระยะทาง 14 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเติบโตของจังหวัดปทุมธานี มีเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-ลำลูกกา

3.สายบางหว้า-ตลิ่งชัน-นนทบุรี-บางกะปิ ระยะทาง 42 กิโลเมตร แนวเส้นทางจะเป็นลักษณะวงแหวน รองรับพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าเข้าถึง (สายสีน้ำตาลเป็นช่วงหนึ่งในแนวเส้นทางนี้)

4.สายหลักสี่-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ(ถ.บรมราชชนนี) ระยะทาง 30 กิโลเมตร แนวเส้นทางจะพาดผ่านพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบขนส่งทางรางเข้าสู่ตัวเมือง

5.สายสถานีแม่น้ำ-บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 33 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเติโตของเมืองฝั่งจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ

โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.บรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมือง 2.ส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกทม.และปริมณฑลให้มีประสิทธิภาพ 3.เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี 4.ส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ และ 5.เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสนามบิน อย่างไรก็ตาม การศึกษา M-MAP 2 ยังต้องผ่านกระบวนการอีกมาก โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ถึงจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*