พลัส พร็อพเพอร์ตี้  เผยผลสำรวจตลาดบ้านเดี่ยวปี2562 พบครึ่งปีแรกรายใหญ่หันมาบุกตลาดแนวราบ ด้านราคาพบว่ากลุ่ม 3-5 ล้านบาท และ 5-7 ล้านบาท ยังคงเป็นตลาดหลัก แต่กลุ่มราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปมีการเติบโตมากขึ้นทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ เหตุเป็นตลาดของกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน ที่ต้องการอยู่อาศัยจริงและไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังคาดอุปทาน-อุปสงค์เติบโตคงที่ โครงการใหม่ราคา 5 ล้านบาทขึ้นไปจะมีมากขึ้น ขณะที่ราคา 3 ล้านบาทจะลดลงจากปัจจัยต้นทุนราคาที่ดิน แนะจับตาภาวะเศรษฐกิจ นโยบายสินเชื่อและนโยบายดอกเบี้ยใกล้ชิด 

 

นางสาวสุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด  เปิดเผยว่า จากการสำรวจของฝ่ายวิจัยและพัฒนาในปี 2562 บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หันมาพัฒนาโครงการที่เป็นบ้านเดี่ยวมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดบ้านเดี่ยวช่วงครึ่งปีแรก 2562 มีการเติบโตดีขึ้นทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนๆ แต่ชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีหลัง 2561 เนื่องจากการเร่งระบายสินค้าก่อนที่นโยบายการปล่อยสินเชื่อใหม่จะเริ่มใช้ในช่วงต้นปี 2562 โดยในรอบสำรวจนี้มีอุปทานเสนอขายรวมเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากโครงการเปิดใหม่และโครงการเก่าที่เปิดจำนวนยูนิตขายเพิ่มขึ้น มีจำนวนทั้งสิ้น 16,369 ยูนิต ในขณะที่อุปสงค์รวมเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 6,198 ยูนิต หรือมีอัตราการขายเท่ากับ 38%

ข้อมูลจากฝ่ายวิจัยและพัฒนา พลัส พร็อพเพอร์ตี้ พบว่า กลุ่มราคาที่เติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 ได้แก่ บ้านเดี่ยวระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์มาพัฒนาโครงการที่จับกลุ่มลูกค้าระดับบน เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตามระดับราคาดังกล่าวมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกันระดับราคาอื่นๆ ในตลาดบ้านเดี่ยว

ภาพรวมของบ้านเดี่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 มีอุปทานรวม 16,369 ยูนิต แบ่งเป็น ระดับราคา 3-5 ล้านบาท มีจำนวนสูงสุดถึง 35% (5,671 ยูนิต) รองลงมาคือ 5-7 ล้านบาท จำนวน 31% (5,065 ยูนิต) ระดับราคา 7-10 ล้านบาท มี 15% (2,515 ยูนิต) ราคา 10-20 ล้านบาท จำนวน 10% (1,709 ยูนิต) ราคา 20-40 ล้านบาท มี 4% (711 ยูนิต) ราคา 30-40 ล้านบาท มี 2% (305 ยูนิต) ราคา 40 ล้านบาทขึ้นไป 2% (300 ยูนิต) และราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท มี 1% (93 ยูนิต)

ขณะเดียวกันอุปสงค์รวมของครึ่งปีแรก มีจำนวนทั้งสิ้น 6,198 ยูนิต หรือคิดเป็นยอดขาย 38% จำนวนอุปสงค์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 16% จากช่วงครึ่งหลังปี 2561 เนื่องจากการมีการเร่งระบายสินค้า ก่อนจะเริ่มใช้นโยบายสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ในต้นปี 2562 ซึ่งส่งผลให้การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในรอบสำรวจนี้จำนวนอุปสงค์ปรับเพิ่มขึ้นในทุกระดับราคาเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ระดับราคาที่ได้รับการตอบรับหรือมีดีมานด์ที่เพิ่มมากขึ้นอันดับต้นๆได้แก่ บ้านเดี่ยวในระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นราว 40% มาอยู่ที่ 1,158 ยูนิต

ส่วนระดับราคาที่เป็นตลาดหลัก ได้แก่ 3-5 ล้านบาท และ 5-7 ล้านบาท มีจำนวนอุปสงค์เพิ่มขึ้น 4% และ 22% มาอยู่ที่ 2,418 ยูนิต และ 1,733 ยูนิต ตามลำดับ ในขณะที่ราคา 7-10 ล้านบาท มีอุปสงค์เพิ่มขึ้น 2% มาอยู่ที่ 848 ยูนิต และในรอบสำรวจนี้พบว่า บ้านเดี่ยวในระดับราคา 5-7 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับราคาหลักในตลาดบ้านเดี่ยวตลอดจนมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นส่วนมากในโซนตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณคลองสามวา และลาดกระบัง รวมถึงโซนทิศตะวันตกจะอยู่ในบริเวณบางใหญ่ และพุทธมณฑล เนื่องจากเป็นทำเลที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ตัวเมืองได้ รวมไปถึงมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

Cr:เพอร์เฟค มาสเตอร์พีซ กรุงเทพกรีฑา

แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 คาดว่าอุปทานและอุปสงค์ของบ้านเดี่ยวยังคงเติบโตระดับที่คงที่ต่อไป โดยผู้ประกอบการยังคงต้องเน้นพัฒนาโครงการใหม่ให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากขึ้น และคาดว่าโครงการใหม่ที่ระดับราคา 5-7 ล้านบาท จะมีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่โครงการใหม่ในระดับราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับราคาหลักของบ้านเดี่ยวจะมีแนวโน้มการเปิดโครงการใหม่ลดลง เนื่องจากราคาที่ดินเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นจะต้องปรับระดับราคาที่เสนอขายให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ การทบทวนนโยบายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นปัจจัยที่มีผลต่อกำลังซื้อในครึ่งปีหลัง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*