แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ประกาศเดินหน้าแผนขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรก  จำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้นแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนประมาณ 6,957 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น โดยมีการนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (โรดโชว์) ในวันที่ 11 กันยายนนี้  ราคา 6 บาท/หุ้น และเปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้นได้ประมาณปลายเดือน หวังนำเงินจากการระดมทุนต่อยอดกลุ่มธุรกิจในเครือ คาดเข้าซื้อขายวันแรกต้นต.ค.62
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ในเครือ TCC Group เปิดเผยว่า บริษัทฯพร้อมที่จะเดินหน้าเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรก(IPO) จำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านหึ้น โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 6,957 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 22.47 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Option หรือ Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น โดยมีการนำเสอนข้อมูลให้กับนักลงทุน(โรดโชว์)ในวันพุธ ที่ 11 กันยายน 2562 นี้ และคาดว่าจะพร้อมเปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้นได้ประมาณปลายเดือนกันยายนเช่นกัน  โดยนำเงินที่ได้รับจากการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไปใช้ในกลไกการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเกี่ยวกับเสถียรภาพของราคาหุ้นในช่วง 30 วันแรกหลังเข้าจดทะเบียนซื้อขาย โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

 

ทั้งนี้ AWC ประกอบธุรกิจพัฒนาและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่มุ่งตอบไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร      ในประเทศไทย บนทำเลที่ดีเยี่ยม ซึ่งบริษัทฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (Freehold) ถึงร้อยละ 90 โดยแบ่งเป็น

(1) กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ซึ่ง AWC เป็นเจ้าของโรงแรมระดับ Midscale ขึ้นไปรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากจำนวนห้องพักทั้งหมดของบริษัทฯ และอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทฯ ตกลงเข้าซื้อตามสัญญาซื้อขายหุ้นปี 2562 ทั้งในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ในเขตเมืองและเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่ดึงดูดทั้งกลุ่มไมซ์  และนักท่องเที่ยวทุกประเภท โดยมีเครือข่ายพันธมิตรผู้บริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ชั้นนำระดับสากลถึง 6 กลุ่มพร้อมด้วยฐานลูกค้าทั่วโลกกว่า 300 ล้านราย

(2) กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial Building) ซึ่งครอบคลุมทั้งในส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail and Wholesale) ทั้งแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยวอย่างเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ คอมมูนิตี้ชอปปิงมอลล์และคอมมูนิตี้มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์เกทเวย์ พันธุ์ทิพย์ และตะวันนา นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ อาคารสำนักงานแบบมิกซ์ยูส (Mixed-Use) ระดับเกรดเอ เมื่อพิจารณาจากพื้นที่เช่าสุทธิ

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2561) มีการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี โดยที่มีรายได้รวม  9,410 ล้านบาท , 11,200 ล้านบาท และ 12,400  ล้านบาท ตามลำดับ โครงการครึ่งปีแรกของปี 2561มีรายได้ ที่ 6,210 ล้านบาท โดยที่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัท แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจโรงแรม 60% และรายได้จากธุรกิจอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก 40%

“AWC ยังมีแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อได้เปรียบที่ได้รับการสนับสนุนจาก Ecosystem ของ TCC Group ที่จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต และเพิ่มมูลค่าของเงินทุนในระยะยาว โดย AWC มีแผนจะเข้าลงทุนในกิจการเจ้าของทรัพย์สินรวม ทั้งสิ้น 14 โครงการ”นางวัลลภา กล่าว

นางวัลลภา กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯจะใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อซื้อและพัฒนากิจการ โดยมีโครงการเด่น ๆ อาทิ โครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว โรงแรมแบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ (Bangkok Marriott Hotel The Surawongse) ซึ่งมีศักยภาพสูงจากการเปรียบเทียบข้อมูลทางการเงินกับข้อมูลของกลุ่มคู่แข่ง แม้โรงแรมจะเพิ่งเปิดดำเนินการในเดือนเมษายน 2561 และอยู่ในระยะเวลาการดำเนินการช่วงเริ่มต้น (Ramp-up) คือ โรงแรมหัวหิน แมริออท รีสอร์ท แอนด์สปา (Hua Hin Marriott Resort & Spa) โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา ในยางบีช  (Phuket Marriott Resort and Spa, Nai Yang Beach) และโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรสส์ กรุงเทพ สาทร (Holiday Inn Express Bangkok Sathorn)

นอกจากนี้ยังรวมถึงโครงการที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นแบรนด์สากล อาทิ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง (Imperial Mae Ping Hotel) โรงแรมแกรนด์ โซเล่ (Grand Sole Hotel) โรงแรมพรพิงค์ ทาวเวอร์ (Pornping Tower Hotel) (ซึ่งจะมีการเปลี่ยนเป็นแบรนด์ Melia) อีกทั้งยังมีโครงการโรงแรมที่จะพัฒนาใหม่ อาทิ โรงแรมเจริญกรุง 93 (Charoenkrung 93) ที่จะจับกลุ่มนักเดินทางเพื่อธุรกิจและนักท่องเที่ยว โรงแรมอีสต์ เอเชีย (East Asia Hotel) โรงแรมหรูหราในย่านเก่าแก่บนอาคารคลาสสิคกว่า 100 ปี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โรงแรมบันยันทรี จอมเทียน พัทยา (Banyan Tree Jomtien Pattaya) โครงการในพัทยา ประเภทมิกซ์ยูส ที่ครอบคลุมทั้งในส่วนโรงแรม ค้าปลีก และกิจกรรมนันทนาการอีกมากมาย รวมพื้นที่จัดประชุมและงานอีเวนท์ขนาดใหญ่บนหาดพัทยา ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้จะทยอยเปิดให้ดำเนินการระหว่างปี 2564 – 2567

ในส่วนของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail and Wholesale) บริษัทฯ มีแผนในการพัฒนาและปรับปรุงโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูส อันประกอบด้วย โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ส่วนต่อขยาย (เฟส 2) โรงแรมแบงค็อกแมริออท ดิ เอเชียทีค (Bangkok Marriott The Asiatique) และโรงแรมเจริญกรุง 93  ทั้งนี้ การปรับปรุงและพัฒนาโครงการต่างๆ ของ AWC มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น โดยบริษัทฯ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโครงการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ เป็นรูปแบบอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส หรือรูปแบบอื่นๆ และมีแผนเพิ่มทางเลือกด้านความบันเทิงและสันทนาการรูปแบบใหม่ให้กับอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการใช้พื้นที่ของโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ภายหลังการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว AWC จะมีโครงการในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) รวมทั้งสิ้น 27 โครงการ จากปัจจุบันที่มีโครงการ 14 แห่ง (แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 10 แห่ง และรวมโครงการอีก 4 แห่ง ตามสัญญาซื้อขายหุ้นปี 2562) และโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือมีแผนการพัฒนาจำนวน 13 แห่ง (เป็นโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือแผนในการพัฒนา 11 แห่ง และ โครงการอสังหาริมทรัพย์ Mixed-use อีก 2 แห่ง) ซึ่งภายใน 5 ปีข้างหน้า AWC จะมีห้องพักโรงแรมรวม  8,506 ห้อง

ส่วนกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail และ Wholesale) บริษัทฯ จะมีพื้นที่เช่าสุทธิรวม 415,481 ตารางเมตร จากโครงการทั้งหมด 11 โครงการ โดยมีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 9 โครงการ (รวม 1 โครงการ ที่บริษัทฯ ได้ทำข้อบันทึกตกลงสัญญาว่าจ้างบริหารเกทเวย์  เอกมัย และเพื่อพิจารณาเข้าลงทุนในโครงการเกทเวย์ เอกมัย ปี 2562) และอีก 2 โครงการซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุง และที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบความพร้อมต่าง ๆ (Test Run) พร้อมกับเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานอีก 4 แห่ง ด้วยพื้นที่เช่าสุทธิรวม 270,594 ตารางเมตร

ทั้งนี้ ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นกลยุทธ์ในการขยายสเกลธุรกิจโรงแรม เพื่อให้ AWC ได้เป็นพันธมิตรที่สำคัญสำหรับเครือโรงแรมระดับโลก โดยเฉพาะเครือโรงแรมระดับยอดเยี่ยม (Best In Class) พร้อมยกระดับศักยภาพการเข้าถึงทำเลสำคัญในแต่ละพื้นที่ โดยเลือกประเภทโรงแรมที่ใช่สำหรับในแต่ละพื้นที่และไลฟ์สไตล์ของคนในท้องที่และนักท่องเที่ยว และที่สำคัญคือต่อยอดความร่วมมือกันในกลุ่ม โดยเฉพาะการทำโครงการในรูปแบบ Mixed-Use

ส่วนกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ บริษัทจะยังคงเน้นกลยุทธ์ Barbell Strategy ผ่านการสร้างจุดหมายปลายทางเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั่วโลก (Global Demand) และสร้างสมดุลโครงการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในบริเวณโดยรอบโครงการ (Local Catchment) รวมทั้งนำเสนอแนวคิดใหม่เป็นบริษัทแรกอยู่เสมอ ไปพร้อม ๆ กับบริหารความพึงพอใจให้กับผู้เช่าแบบเชิงรุก ด้วยการปรับและพัฒนาสินค้าและบริการ รวมทั้งพื้นที่ให้กับนักช้อปและพนักงานในสำนักงานที่มาเช่าพื้นที่ กระชับความสัมพันธ์กับผู้เช่าเพื่อการตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจของผู้เช่าในระยะยาวและสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีกลยุทธ์ตลาดแบบข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform)     ผ่านการขายร่วมเป็นแพคเกจทั้งในกลุ่มรีเทลประเภทเดียวกันและต่างประเภท

 

การทำ IPO ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสนับสนุนการดำเนินการของ AWC ที่จะช่วยต่อยอดรากฐานอันมั่นคงของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แบบครบวงจรในประเทศไทยเพื่อจะตอบรับโอกาสจากระดับมหภาคที่มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวนถึง 38.3 ล้านคน ในปี 2561 ตามข้อมูลของ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ  JLL พบว่ามีอัตราเติบโตของภาคการท่องเที่ยวถึงร้อยละ 10.1 ต่อปี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งนักเดินทางกลุ่มประชุมสัมมนา (MICE) มีการเติบโตระหว่างปี 2555-2560 สูงถึงร้อยละ 47.6 ต่อปี โดยกรุงเทพมหานครยังเป็นเมืองหลวงที่เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของโลก อีกทั้งการขยายตัวของเมืองยังคงมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง โดยที่องค์การสหประชาชาติได้ประมาณการว่าอัตราการอยู่อาศัยในเมือง (Urbanization Rate) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.9 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 58.4 ในปี 2573 และร้อยละ 69.5 ในปี 2593 ที่ทำให้ความต้องการด้านค้าปลีกและพื้นที่อาคารสำนักงานเพิ่มขึ้น ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้เหมาะกับแต่ละตลาดและลูกค้าแต่ละกลุ่ม รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากแผนการตลาดในต่างประเทศและเครือข่ายสมาชิกของผู้บริหารโรงแรมระดับสากล ทำให้ธุรกิจของ AWC อยู่ในตำแหน่งที่สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาวภายใต้การสนับสนุนของเครือ TCC Group ทั้งในส่วนโครงการที่บริษัทฯ พัฒนาแล้ว เริ่มพัฒนา หรือมีแผนจะพัฒนาในอนาคต ด้วยสิทธิของบริษัทฯ ตามสัญญาให้สิทธิ ที่ทำให้สามารถเข้าถึงโครงการและที่ดินเปล่าที่มีศักยภาพสูง เพื่อเสริมแผนการเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

ดร.กานต์ ปฏิเวธวรรณกิจ หัวหน้าคณะสายงานบัญชีและการเงิน (CFO) บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการของ AWC เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ต่อเนื่องและมีความสมดุล โดยมีสัดส่วนกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน ประจำปี2561 เท่ากับร้อยละ 52 ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ และร้อยละ 48ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ สำหรับผลประกอบการหกเดือนแรกของปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทฯ มีรายได้และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน  จาก 2 กลุ่มธุรกิจหลักเป็นจำนวน 6,442 ล้านบาทและ 3,114 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งนับได้ว่าสามารถสะท้อนรากฐานอันแข็งแกร่งของ AWC จากการปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ อย่างมีกลยุทธ์และต่อเนื่อง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายโดยการใช้รูปแบบและแบรนด์ที่แตกต่างกัน ด้วยประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญทำให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาโครงการในกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมและประหยัดต้นทุน ซึ่งหลายโครงการได้เข้าสู่ระยะเวลาการดำเนินการช่วงเริ่มต้น (Ramp-up) ที่อยู่ระหว่างการสร้างรายได้และผลกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด

“การระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ AWC ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนในการเข้าซื้อกิจการที่เป็นเจ้าของของทรัพย์สินตามสัญญาซื้อขายหุ้นปี 2562 ซึ่งจะเป็นโครงการใหม่ ๆ ที่เข้ามาเสริมในพอร์ตฟอลิโอของ AWC หลัง IPO รวมทั้งนำไปลงทุนพัฒนา และปรับปรุงทรัพย์สินของบริษัทฯ และ/หรือ บริษัทย่อย เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้กับบริษัทและผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น นอกจากนี้บางส่วนจะใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน” ดร.กานต์ กล่าว

บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถเปิดให้จองซื้อหุ้นสามัญให้แก่นักลงทุนประเภทบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ได้ประมาณปลายเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ คาดว่าหุ้นสามัญของบริษัทจะสามารถเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยรายละเอียดจะได้มีการแจ้งให้ทราบต่อไป

ด้านนางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน AWC กล่าวว่า บริษัทฯได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) ของ AWC ที่ 6 บาท/หุ้น โดยจัดสรรเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้น โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนประมาณ 6,957 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น โดยจะมีการนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (โรดโชว์) ในวันที่ 11 กันยายน 2562  เปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้นได้ในระหว่างวันที่ 25-27 กันยายนนี้ และคาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรกในตสาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2562

โดยนักลงทุนที่สนใจจองซื้อหุ้นสามัญ AWC สามารถติดต่อบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 4 แห่งที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย  อีก 8 แห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ,บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ,บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน),บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ,บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ,บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ,บริษัท หลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

 

เกี่ยวกับแอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (AWC) เป็นบริษัท Holding Company ภายใต้เครือทีซีซีกรุ๊ป (TCC Group) ซึ่งประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่มุ่งตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจรในประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ซึ่งบริหารงานโดยผู้บริหารโรงแรมที่มีชื่อเสียงภายใต้แบรนด์ชั้นนำที่มีคุณภาพและเป็นที่รู้จักระดับสากล อาทิ แมริออท, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล,     โอกุระ, เลอ เมอริเดียน, บันยันทรี, ฮิลตัน, ดับเบิ้ลทรี บาย ฮิลตัน, เชอราตัน และมีเลีย และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail and Commercial Building) ซึ่งครอบคลุมโครงการในกลุ่ม (1) อสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail and Wholesale) ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ชอปปิงมอลล์ คอมมูนิตี้ มาร์เก็ต และอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าส่ง โดยอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้ามีโครงการที่มีชื่อเสียงคือ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ โครงการเกทเวย์ แอท บางซื่อ โครงการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และโครงการตะวันนา บางกะปิ (2) อาคารสำนักงาน (Office) โดยโครงการที่โดดเด่นในเครือ AWC คือ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ และอาคารแอทธินี ทาวเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลทางธุรกิจที่มีศักยภาพในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ทั้งนี้ AWC มีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการหลากหลายที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*