โจนส์ แลงฯ เผยครึ่งปีแรก62 มีการลงทุนซื้อขายอสังหาฯ 4 รายการ รวมมูลค่า 19,200 ล้านบาท ระบุ 2 ดีลใหญ่ โดย สิงห์ เอสเตทฯและซิโนไทยฯ จับตากลุ่มรับเหมาก่อสร้างกลับคืนวงการอสังหาฯอีกรอบหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เชื่อภาษีที่ดินฯช่วยผู้ประกอบการมีโอกาสซื้อที่ดินย่านกลางเมืองได้เพิ่มขึ้น คาดครึ่งปีหลังยังมีการซื้อขายที่ดินอาคารต่อเนื่อง พื้นที่EEC รับอานิสงส์จีนย้ายฐานการผลิต กระตุ้นอสังหาฯโลจิสติกส์ โต
 
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ JLL เปิดเผยถึง การลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยในครึ่งแรก 2562 ว่า  มีเกิดขึ้น 4 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 19,200 ล้านบาท โดยรายการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ การขาย “ซันทาวเวอร์ส คอมเพล็กซ์” อาคารสำนักงานริมถนนวิภาวดีรังสิต โดยบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด(มหาชน)หรือ S  เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เอส ไพรม์ โกรท (SPRIME) ด้วยมูลค่า 5,700 ล้านบาท

 

รายการลงทุนมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ2  คือการซื้อที่ดิน แปลงรวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทโดย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC  และบริษัทในเครือ โดยในเดือนเมษายน ซิโน-ไทยฯ ได้ซื้อที่ขนาด 11 ไร่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิตจาก บริษัท ยูซิตี้ จำกัด(มหาชน) หรือ U  ในราคา 4,300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคอมเพล็กซ์ อาคารสำนักงาน ส่วนในเดือนมิถุนายน บริษัทลูกของซิโน-ไทย คือบริษัท เอสที พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด ได้เข้าซื้อคอมมูนิตี้มอลล์ซัมเมอร์ฮิลล์ และอาคารสำนักงาน ซัมเมอร์ฮับ ออฟฟิศ จาก บริษัท บูทิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ด้วยมูลค่า 957 ล้านบาท

“โดยข้อมูลดังกล่าวได้รับรวบรวมโดยศูนย์บริการข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไทยของJLL  ซึ่งครอบคลุมธุรกรรมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยโดยบริษัทและกองทุน ทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ” นางสุพินท์ กล่าว

นางสุพินท์  กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนของซิโน-ไทยฯ และบริษัทในเครือในปีนี้ สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง เริ่มทยอยกลับเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง จากที่ได้เว้นช่วงไปเกือบ 2 ทศวรรษหลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง โดยมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายอื่นๆ ที่เข้ามาลงทุนเมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ อาทิ บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด ได้ร่วมลงทุนกับ บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด(มหาชน) AIRA และ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ SENA  ในโครงการพัฒนาอาคารสำนักงานสปริงทาวเวอร์ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชเทวี ส่วนไทย โอบายาชิ ได้ซื้อที่ดินติดกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสนานา ในราคาตารางวาละ 2.6 ล้านบาท ซึ่งทำสถิติราคาที่ดินต่อตารางวาแพงที่สุดในปี 2560 โดยขณะนี้ กำลังใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารO-NES Tower ซึ่งเป็นการลงทุนพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานใหม่ โครงการแรกของ ไทย โอบายาชิ นับตั้งแต่เคยลงทุนก่อสร้าง อาคารนันทวัน ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชดำริ เมื่อปี 2534 ที่ผ่านมา

ส่วนการลงทุนซื้อขายที่ดินที่มีราคาต่อตารางวาสูงสุดในครึ่งแรกของปีนี้ เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ โดย บริษัท แชงกรี-ลา โฮเต็ล จำกัด(มหาชน) ซึ่งซื้อที่ดินขนาด 658 ตารางวา ในย่านทองหล่อ มูลค่าประมาณ 1,900 ล้านบาท หรือราว 2.86 ล้านบาทต่อตารางวา นับว่ามีราคาต่อตารางวาที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์สำหรับการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการโรงแรม แต่ยังไม่ทำลายสถิติราคาที่ดินตารางวาละ 3.1 ล้านบาท สำหรับที่ดินขนาด 880 ตารางวา บนถนนหลังสวน ที่JLL เป็นตัวแทนเจ้าของที่ดินขายไปในปี 2561

“เชื่อว่าราคาซื้อขายที่สูง ประกอบกับการที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. ฉบับใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 จะกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินในทำเลชั้นดีในกรุงเทพฯ นำที่ดินออกมาเสนอขายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเข้มแข็งทางการเงิน มีโอกาสมากขึ้นในการซื้อที่ดินในทำเลชั้นดีเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ ในที่นี้หมายรวมถึงการซื้อที่ดินพร้อมอาคาร ที่ไม่สามารถสร้างรายได้สมกับศักยภาพที่เพิ่มสูงขึ้นของแปลงที่ดิน สำหรับนำไปปรับปรุงหรือรื้อถอนเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ ทั้งนี้ เชื่อว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีวิสัยทัศน์จะสามารถพัฒนาโครงการใหม่ที่ยังคงให้ผลตอบแทนในระดับที่พอเหมาะได้แม้ต้นทุนที่ดินจะเพิ่มสูงขึ้นมาก” นางสุพินท์ กล่าว

สำหรับในครึ่งหลังของปี 2562 นี้ คาดว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์รายการใหญ่ๆ จะยังคงเป็นการซื้อขายที่ดินและอาคารในกรุงเทพฯ แต่ขณะเดียวกัน คาดว่า ธุรกรรมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรม อาทิ โรงงาน และโกดังสินค้า และโลจิสติกส์ จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เนื่องจากมีบริษัทหลายรายเริ่มย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น จากผลพวงของสงครามกำแพงภาษีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ประกอบกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce)  ในประเทศไทยที่กระตุ้นให้มีความต้องการใช้อสังหาริมทรัพย์ประเภทโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*