เอสซีจี เซรามิกส์ เผยตลาดกระเบื้องเซรามิคปี 2562 เติบโต 0% ไร้ปัจจัยบวกสนับสนุน หวั่นธุรกิจซึมยาวถึงปี 2563 ส่งผลต่อเป้ายอดขายรวมทั้งปีของบริษัทฯที่อาจไม่ได้ตามเป้า

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยถึงผลประกอบการในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,790 ล้านบาท ลดลง 5 % เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน(Q2ปี 2561) และลดลง 7 %  จากไตรมาสก่อน (Q 1 ปี 2562 )

ส่วนผลประกอบการด้านกำไร 21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 84 %  จากไตรมาสก่อน   ปัจจัยสำคัญมาจากการตั้งประมาณการค่าใช้จ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่เพิ่มสิทธิค่าชดเชยกรณีพนักงานเกษียณอายุจาก 300 วันเป็น 400 วัน ทำให้ต้องตั้งประมาณการสำรองค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้ เป็นจำนวน 124 ล้านบาท

“ไตรมาสนี้ บริษัทฯ สามารถทำกำไรได้ประมาณ 113 ล้านบาท แต่เนื่องจากเราต้องตั้งประมาณการค่าใช้จ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่เพิ่มสิทธิค่าชดเชยพนักงานเกษียณอายุจาก 300 วัน เป็น 400 วัน เมื่อหักลบในส่วนนี้แล้วจึงทำให้กำไรลดลงจากไตรมาสแรก ” นายนำพล กล่าวให้เหตุผล

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2562 เอสซีจี เซรามิกส์ มีรายได้จากการขาย 5,802 ล้านบาท ลดลง  4 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยต่ำกว่าปีก่อน  การแข่งขันรุนแรง ประกอบกับยอดขายจากการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศลดลง ทั้งนี้ รายได้จากการส่งสินค้าออกไปต่างประทศนั้นคิดเป็นสัดส่วน 17 % จากรายได้ทั้งหมดในจำนวนรายได้ที่ได้จากการส่งออกนั้น 50 % มาจากกลุ่มประเทศ CLM โดยมีกำไรสำหรับงวด 151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 182 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกำไรจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหนองแค

ทั้งนี้ ในปี 2562 นี้บริษัทฯตั้งเป้ารายได้รวมไว้กว่า 10,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ประมาณ 5-10 % มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ประมาณ 1ใน3 หรือประมาณ 30-33 % ด้วยผลประกอบที่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลง ประกอบบกับสภาพตลาดโดยรวมของกระเบื้องเซรามิคภายในประเทศไม่มีการการเติบโต หรือ เรียกว่า เติบโต 0% ซึ่งอาจส่งผลต่อเป้ายอดขายรวมทั้งปีของบริษัทฯที่อาจไม่ได้ตามเป้า โดยคาดว่าจะมีปริมาณการใช้กระเบื้องเซรามิคภายในประทศอยู่ประมาณ 170-180 ล้านตารางเมตร ในจำนวนนี้เป็นสินค้านำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 24-25 %

หวั่นตลาดเซรามิคซึมยาวถึงปี’ 63 เหตุไร้ปัจจัยบวกสนับสนุน

พร้อมกันนี้นายนำพล กล่าวยอมรับว่า ในไตรมาสที่ผ่านมาและอาจจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 ถือว่ายังมองไม่ค่อยเห็นหรือไม่มีปัจจัยบวกที่จะมาสนับสนุนธุรกิจ และนั่นอาจส่งผลให้ภาพโดยรวมของตลาดกระเบื้องเซรามิกซึมยาวไปจนถึงปีหน้าและอัตราการเติบโตของตลาดเซรามิคในประเทศเป็นศูนย์ ดังนี้

  • ผู้บริโภคชะลอการซื้อ จากปัญหาหนี้ครัวเรือน
  •  ปัญหาจากนโยบายของภาครัฐหลังจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ มาตรการ LTV ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562
  • การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวเพื่อรอดูทิศทางของภาครัฐและสถานการณ์ในประเทศ
  • ความขัดแย้งของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
  • การแข่งขันจากสินค้านำเข้ารุนแรงมากยิ่งขึ้นมีผลกระทบต่อราคาขาย 
  • ปัญหาภัยแล้ง กระทบต่อกำลังซื้อของตลาดในต่างจัวหวัด

นอกจากภายในประเทศจะไร้ซึ่งปัจจัยบวกสนับสนุนแล้ว นายนำพล ยังยอมรับด้วยว่า การส่งสินค้าออกไปยังประเทศในตลาด CLM ก็เผชิญกับปัจจัยลบด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ตลาดพม่าและกัมพูชายังเติบโตต่อเนื่อง แต่เริ่มมีการชะลองานโครงการขนาดใหญ่ที่กัมพูชา ส่วนตลาดลาวมีสัญญาณชะลอตัวเนื่องจากสถานะขาดดุลต่อเนื่องของรัฐบาลและการอ่อนค่าของเงินกีบ สำหรับตลาดต่างประเทศอื่น ๆ นั้นก็พบมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากมีสินค้าเพิ่มมากขึ้นในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวก่อน อีกทั้ง การแข็งตัวของค่าเงินบาทมีผลทำให้ศักยภาพในการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ลดลง และทำให้สถานการณ์การแข่งขันของสินค้านำเข้ารุนแรงมากขึ้นด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม แม้สภาพตลาดจะไม่เอื้ออำนวย แต่บริษัทฯ มีแผนการรองรับโดยเร่งขยายการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม CLM โดยไตรมาสที่ผ่านมาสามารถเจาะตลาดและขยายฐานลูกค้าใหม่ได้หลายรายแม้ว่าการแข็งตัวของค่าเงินบาทจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคก็ตาม ส่งผลให้ยอดขายในส่วนของตลาด CLM กระเตื้องขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 ย้ำจุดแข็งรักษามาตรฐาน-คุณภาพสินค้า

ในด้านกลยุทธ์การดำเนินงานที่สำคัญ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์สินค้า โดยนายนำพล กล่าวว่า ในการสร้างแบรนด์สินค้าให้อยู่ในใจผู้บริโภคอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญที่บริษัทมุ่งเน้น คือ การรักษามาตรฐานและยกระดับคุณภาพสินค้าซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญของแบรนด์โดยเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครับรู้และให้การยอมรับมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่าในทุกโรงงานที่เป็นฐานการผลิตของเราจะมีห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพกระเบื้องที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก.17025 (ISO/IEC-17025) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ให้การรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีการดำเนินงานด้านระบบคุณภาพ มีความสามารถทางวิชาการและผลการทดสอบที่ออกโดยห้องปฏิบัติการเป็นที่เชื่อถือได้ว่าถูกต้องตามหลักวิชาการทุกประการ

ล่าสุด ห้องปฏิบัติการทดสอบของ เอสซีจี เซรามิกส์ โรงงานหินกอง ยังได้รับการรับรอง มอก.17025-2561 เวอร์ชันใหม่ เป็นรายแรกของกลุ่มวัสดุก่อสร้างของเอสซีจี โดยในประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการทดสอบเพียง 3 แห่งเท่านั้น ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ และ เอสซีจี เซรามิกส์ เป็นผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิค รายแรกและรายเดียวในประเทศที่ได้รับการรับรอง เป็นการสร้างความมั่นใจและตอกย้ำความน่าเชื่อถือในเรื่องการทดสอบคุณภาพสินค้าและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพสินค้าของเราเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เร่งศึกษา-ลงทุนโครงการพลังงานทดแทน

ในส่วนของความคืบหน้าของโครงการลดต้นทุนด้านพลังงานที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการพลังงานทดแทน ล่าสุด โครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำและบนหลังคาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำประปานิคมอุตสาหกรรมหนองแค” ได้รับรางวัลดีเด่น Thailand Energy Awards 2019 ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า หรือ Off-Grid

โครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีการติดตั้ง 2 ระบบ คือ แบบบนหลังคาและแบบลอยน้ำ จุดเด่นอยู่ที่ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ (Solar Floating) ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าแบบบนหลังคา 9% และยังลดการระเหยน้ำในบ่อได้ 7% ส่งผลให้บริษัทลดการใช้ไฟฟ้าจากภายนอกได้ถึง 14% จากกำลังการติดตั้งทั้งสิ้น 160 Kw  ที่มาของโครงการดังกล่าวเกิดจากการมุ่งค้นหาพลังงานทดแทนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้พื้นที่ของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมหนองแคเป็นโครงการนำร่อง มีพื้นที่หลายจุดสำหรับติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่บนหลังคาของตัวอาคาร บ่อน้ำด้านหลังสำนักงาน ปัจจุบันได้เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องโซลาร์เซลของชุมชนโดยรอบด้วย

โครงการนี้ดำเนินการโดยทีมงาน Energy Solution Services ของ บริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ ซึ่งเป็นการรวมทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและพลังงานทดแทน โดยได้เปิดให้บริการคำปรึกษาแนะนำ จำหน่ายและติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบโซลาร์เซล ให้กับหน่วยงานภายนอก ซึ่งในปีที่ผ่านมาเราเริ่มมีรายได้จากหน่วยงานนี้ โดยก่อนหน้านี้ทีมนี้มีผลงานที่คว้ารางวัลทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศทั้ง Thailand Energy Awards ต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2010-2014 รวมถึงได้รับรางวัลในระดับ  ASEAN ถึง 2 ปีด้วยกันในปี 2010 และ 2014 ด้วย”

“เอสซีจี เซรามิกส์ ยังคงมุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพและพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักดีกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืน”  นายนำพล กล่าวสรุป

 อนึ่ง บริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO : ก่อตั้งเมื่อเดือน สิงหาคม 2561 จากการควบ 5 บริษัทย่อยภายในเครือ SCG (The Siam Cement Group) ได้แก่ (1) บริษัทเซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด (“TCC”) (2) บริษัทเดอะ สยาม เซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด (“SGI”) (3) บริษัทโสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด (“SSG”) (4) บริษัทไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) และ (5) บริษัทเจมาโก จำกัด (“GMG”) ส่งผลให้เอสซีจี เซรามิกส์ กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้นและบุผนังของประเทศ โดยมีฐานการผลิต ทั้งหมด 4 แห่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี มีกำลังการผลิตกระเบื้องสูงสุดรวมกันถึงปีละ 94 ล้านตารางเมตร ภายใต้ 3 แบรนด์หลัก คือ แบรนด์คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA)

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*