จากการที่รัฐบาล “ประยุทธ์2” ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ตามที่ได้เคยหาเสียงไว้ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ซึ่งในมุมของผู้ใช้แรงงานย่อมถูกใจและเห็นด้วยอย่างแน่นอน แต่ในด้านของผู้ประกอบการธุรกิจนั้นอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยมากนัก เพราะนั่นหมายถึงผลกระทบที่จะได้รับ ที่จะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น หากเป็นนักลงทุนจากต่างชาติก็อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทนได้ ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางรัฐบาลจะต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้าย โดยผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาฯต่างแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้

 

เห็นด้วยในหลักการแต่ต้องมีความเหมาะสม
นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน)หรือ SPALI เปิดเผยว่า ในหลักการแล้วเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล แต่ทั้งนี้ต้องรอดูความชัดเจนและรายละเอียดก่อน เพราะกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องทางจิตวิทยาในการกระจายรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงาน แต่ต้องดูว่ารายได้ขั้นต่ำระหว่างแรงงานคนไทยกับต่างด้าวจะได้หรือไม่ เพราะหากได้เท่ากันก็ต้องมาแย่งรายได้กับคนไทย รวมไปถึงรัฐบาลจะมีการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างไรได้บ้าง หากเป็นแรงงานที่มีฝีมือ จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปที่ 500-1,000 บาท/วันก็ได้ แต่ถ้าเป็นแรงงานที่ไม่มีฝีมือก็มองว่าไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันต่างชาติที่จะย้ายฐานการลงทุนในประเทศไทยก็คงชะลอแผนไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน

 

รอความชัดเจนรัฐบาลก่อนปรับแผน

นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร และการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์)จำกัด(มหาชน)หรือ AP กล่าวว่า ในส่วนของข่าวการเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทนั้น เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกบริษัทมีการมอนิเตอร์ติดตามสถาการณ์ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมองว่าคงต้องรอการประกาศอนุมัติอย่างเป็นทางการก่อน และหากทราบความชัดเจนของผลการอนุมัติเป็นอย่างไรแล้ว ทางบริษัทฯจะมีการประชุมเพื่อทบทวนหรือปรับแผนการทำงานกับบริษัทพันธมิตรผู้รับเหมาก่อสร้างต่างๆ ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคต

 

ปรับแผนลดต้นทุนด้านบุคลากร-การจัดซื้อ

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA กล่าวว่า หารัฐบาลมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน นั้น มองว่าผู้ประกอบการไม่ใช่ผู้สร้างเรื่องดังกล่าวขึ้นมา แต่เป็นContactor มากกว่า ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนในการก่อสร้างปรับสูงขึ้น และกระทบในวงกว้างเป็นลูกโซ่ คือราคาที่อยู่อาศัยก็จะปรับสูงขึ้น สุดท้ายภาระก็จะไปอยู่ที่ผู้บริโภค ซึ่งทางเสนาฯคงต้องรับมือด้วยการไปลดต้นทุนด้านอื่นๆแทน เช่น การทำงานของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ,การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ถูกลงกว่าเดิม เป็นต้น

 

“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่สำหรับนักธุรกิจ แต่ถือเป็นข้อดีสำหรับผู้ใช้แรงงานที่จะมีรายได้ที่สูงขึ้น” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว

แนะปรับขึ้นค่าแรงตามความเหมาะสม

ด้านนายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า นโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ส่งผลทั้งในด้านบวกและลบ โดยในด้านบวกแรงงานจะมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น ถ้ารัฐบาลสามารถบริหารอัตราเงินเฟ้อได้ แต่เชื่อว่าคงไม่ใช่วิธีเดียวในการปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งในภาคธุรกิจอสังหาฯมองว่ารัฐบาลควรปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราที่เหมาะสม คือไม่ควรปรับไปในระนาบเดียวกันทั้งหมด ควรพิจารณาจากมาตรฐานแรงงานแต่ละแบบ หากสามารถดำเนินการในทิศทางนี้ได้ ชื่อว่าทุกภาคธุรกิจจะยินดีให้ความร่วมมืออย่างแน่นอน

หากมองในด้านลบ จะเห็นว่าแรงงานไม่ได้มีการพัฒนาฝีมือแต่อย่างใด และส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติถึง 80% ซึ่งมองว่ารายได้ส่วนใหญ่คนไทยไม่ใช่เป็นผู้รับผลประโยชน์ แต่ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหนมองว่าในภาคอสังหาฯ-ก่อสร้าง นั้นแรงงานฝีมือก็ไม่มีอยู่แล้ว ที่ผ่านมาถือว่ามีการปรับตัวค่อนข้างมาก แม้ว่าจะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการก่อสร้างมากแล้วก็ตาม แต่การใช้แรงงานคนก็ยังมีความจำเป็นอยู่อีกมากเช่นกัน

ภาคอสังหาฯยังรับมือได้แต่เอสเอ็มอีอ่วมแน่

นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ LALIN กล่าวว่า หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท หรือขึ้นมาประมาณ 11% จากปัจจุบันอยู่ที่ 360 บาท   ตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ก็เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาฯทำให้ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีแผนที่รัดกุม และยังพอที่จะรับมือกับเรื่องดังกล่าวได้ เพราะจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างขึ้นมาประมาณ 0.7-0.8% ซึ่งค่าแรงจะคิดเป็น 7-8% ของต้นทุนก่อสร้าง ถือว่าไม่ได้สูงมากนัก  แต่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลังอย่างน้อย 0.25% จะช่วยชดเชยให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงได้บางส่วน แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการก็ต้องใช้ฝีมือในการบริหารจัดการต้นทุนมาทดแทน

 

“ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท/วัน ซึ่งจะต้องจับตาดูว่าการปรับขึ้นค่าแรงนั้นจะเป็นแบบรายจังหวัดหรือทั่วประเทศ  แต่หากปรับขึ้นแน่นอน ภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยลบอื่นๆ นอกจากนี้ยังต้องจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ แต่ถือเป็นเรื่องที่ดีทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างโปรงใส่” นายไชยยันต์ กล่าว

หวั่นต่างด้าวรับผลประโยชน์มากกว่าคนไทย

นายวงศกร  ประสิทธิ์วิภาต  กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน) หรือ PF กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ถือว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป เพราะแรงงานก่อสร้างในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ก็จะได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวไป ซึ่งจะเข้าข่ายได้ไม่คุ้มเสีย เพราะแรงงานต่างด้าวฝีมือไม่สามารถเทียบชั้นกับคนไทยได้  ในด้านของผู้ประกอบการ มองว่าค่าแรงจะปรับสูงขึ้นมาประมาณ 15% ซึ่งจะกระทบกับค่าก่อสร้างประมาณ 4-5% ของต้นทุนการก่อสร้างทั้งหมด ถือว่ามีผลกระทบมากในภาวะที่ตลาดอสังหาฯยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้นผู้ประกอบการคงต้องหันมาเน้นการก่อสร้างที่ใช้ระบบพรีแฟบมากขึ้น ลดการใช้แรงงานคนน้อยลง ซึ่งในส่วนของPF เองก็วางแผนไว้ตั้งแต่แรกแล้ว โดยในปี 2562 จะปรับใช้ระดับพรีแฟบเพิ่มขึ้นเป็น 80% จากปี 2561 อยู่ที่ 70%

 

ซึ่งคงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะหาทางออกอย่างไรให้แฮปปี้กันทุกฝ่าย ทั้งแรงงานและตัวผู้ประกอบการ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*