(12 ก.ค. 62) นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าภาวะตลาดการเงินโลกปัจจุบันมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางหลายแห่ง ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับมายังกลุ่มประเทศเกิดใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่อค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่อื่น ทำให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองเงินบาทและลงทุนในหลักทรัพย์ไทยมากขึ้นในระยะหลัง รวมทั้งบางส่วนอาจใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้น

ธปท. ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และมีความกังวลกับค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วและแข็งค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค จนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ธปท. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อลดทอนช่องทางในการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) การปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident : NR) ทั้ง Non-resident Baht Account for Securities (NRBS) และบัญชี Non-resident Baht Account (NRBA) ให้เข้มขึ้น โดยบัญชี NRBS คือบัญชีเงินบาทของ Non-resident (NR) ที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงิน และบัญชี NRBA คือบัญชีที่เปิดไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั่วไป เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ อย่างไรก็ดี บัญชีเงินบาทข้างต้นในบางครั้งถูกใช้เป็นช่องทางพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อลดช่องทางดังกล่าว ธปท. จึงปรับเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชี NRBS และ NRBA ให้ลดลง จากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อราย NR ต่อประเภทบัญชี โดยกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป กรณีบัญชีที่มียอดคงค้างเกินกว่า 200 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินดำเนินการให้ NR เจ้าของบัญชีปรับลดยอดคงค้างภายในกำหนดเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ NR ซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงินและไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน ที่มีการค้าการลงทุนกับคู่ค้าในประเทศไทยและมีการชำระหรือรับชำระกับคู่ค้าเป็นสกุลบาท สามารถยื่นขออนุญาต ธปท. เพื่อขอผ่อนผันยอดคงค้างในบัญชี NRBA ได้เป็นรายกรณี โดย ธปท. จะพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม

2) การยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners) เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นที่พักเงินระยะสั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แนวโน้มและกำหนดนโยบายหรือมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะต่อไป ทั้งนี้ กำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่งวดการรายงานข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินมาตรการที่เตรียมไว้เพิ่มเติม หากยังพบพฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงินบาทในระยะต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*