รฟม. ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้างานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จับมือเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมจัดการจราจรช่วงติดตั้ง Guideway Beam อำนวยความสะดวกประชาชนด้วยความปลอดภัยทุกขั้นตอน

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2562) เวลา 09.00 น. นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะผู้บริหาร รฟม. พร้อมด้วย พ.ต.อ. ภูบาล ทับจันทร์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี และนายวิฑูรย์ สลิลอำไพ ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความก้าวหน้าการก่อสร้าง และการติดตั้งคานทางวิ่ง Guideway Beam โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ณ บริเวณแยกสามัคคี ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟฟ้าในการพัฒนาตามแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นโครงการที่มีการออกแบบให้เป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง ซึ่งที่ผ่านมาจนถึง เดือนมิถุนายน 2562 มีความก้าวหน้างานก่อสร้างรวมร้อยละ 32.9 ประกอบด้วยงานโยธาร้อยละ 38.2 และงานวางระบบไฟฟ้าร้อยละ 26.9

ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการก่อสร้างจากระดับฐานราก เข้าสู่ขั้นตอนของทางยกระดับในบางพื้นที่แล้ว โดยได้มีการติดตั้ง Guideway Beam ชิ้นแรกของประเทศไทย ไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2562 ซึ่ง Guideway Beam เป็นคานทางวิ่งแบบหล่อสำเร็จขนาดใหญ่ แต่ละชิ้นมีความยาว 30 เมตร น้ำหนักประมาณ 80 ตัน ผลิตจากโรงผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เพื่อทำหน้าที่เป็นโครงสร้างทางวิ่งที่แข็งแรงสำหรับให้รถไฟฟ้าโมโนเรลวิ่งคร่อมอยู่ด้านบน ซึ่งการติดตั้งแต่ละครั้งจะต้องมีการขนย้ายเพื่อไปประกอบในจุดที่ต้องการติดตั้งตามขั้นตอน และการขนย้ายแต่ละครั้งจะมีรถเจ้าหน้าที่ตำรวจนำทาง พร้อมด้วยรถ Service และรถเปิดไฟให้สัญญาณปิดท้าย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการการจราจรมากขึ้น เพราะเป็นการนำชิ้นส่วนวัสดุขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่เมือง

ในการก่อสร้างที่ผ่านมา รวมทั้งการติดตั้ง Guideway Beam รฟม. ได้มีการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับบุคลากรทุกระดับ และให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัย Safety Plan ตามปฏิญญาว่าด้วยความปลอดภัย โดย รฟม. ผู้รับสัมปทาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้วางแผนร่วมกันในการจัดการจราจร ให้เกิดความปลอดภัยและให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยมีการปิดเบี่ยงการจราจรชั่วคราวเพิ่มเติมอีก 1 ช่องทางทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก ช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. พร้อมจัดให้มีป้ายเตือน สัญญาณไฟส่องสว่างก่อนถึงจุดติดตั้งคานทางวิ่งประมาณ 300 – 500 เมตร และมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยควบคุมดูแลการจราจรและการปฏิบัติงานก่อนจุดที่มีการติดตั้งคานทางวิ่งทุกครั้ง รวมทั้งมีการวางแนวทางการลดผลกระทบด้านจราจร ได้แก่ การดำเนินงานในช่วงที่การจราจรเบาบาง คือช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. ดำเนินการประชาสัมพันธ์พื้นที่ที่จะมีการติดตั้งคานทางวิ่งผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และหลีกเลี่ยงการสัญจรในช่วงเวลาที่พื้นที่มีการดำเนินงานพร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการจราจร เช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจภูธร จ.นนทบุรี เพื่อร่วมกันบริหารจัดการจราจรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ การติดตั้ง Guideway Beam นับเป็นก้าวสำคัญของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เพราะเป็นความก้าวหน้าจากการก่อสร้างระดับฐานราก สู่ขั้นตอนทางยกระดับ โดยหลังจากนี้โครงการ
จะดำเนินการยกคานทางวิ่งสายทาง (Elevated) จำนวน 2,686 ชิ้นและคานทางวิ่งสถานี (Station) 186 ชิ้น
ตลอดทั้งสายทางต่อเนื่องไปจนครบ และเมื่อดำเนินงานโครงสร้างทางวิ่งจนเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเริ่มขั้นตอน
การก่อสร้างสถานีเป็นลำดับถัดไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*