กนอ.เผยผลการดำเนินงานรอบ 8 เดือน ยอดขายพื้นที่รวม 1,765 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่EEC มีนิคมอุตสาหกรรมเข้าลงทุนทั้งสิ้น 34 แห่ง งบประมาณลงทุน 1.31 ล้านล้านบาท คาดปี64 หาพื้นที่รองรับการลงทุนได้ครบ 50,000 ไร่ ตามนโยบาย ล่าสุดเซ็นสัญญาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) พื้นที่กว่า 900 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวม 2,100 ล้านบาท เชื่อดึงดูดนักลงทุนไทย-ต่างชาติมากกว่า 6,000 ล้านบาท
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ปิดเผยถึงผลการดำเนินงานล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2562 ว่ามีนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งแล้ว 55 แห่ง ใน 16 จังหวัด มีพื้นที่ขาย/เช่าทั้งสิ้น 110,564 ไร่ มียอดขาย/เช่าแล้ว 89,149 ไร่ มีพื้นที่คงเหลือ 21,415 ไร่ เงินลงทุนสะสมรวม 3.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 มียอดสะสมรวมประมาณ 3 ล้านล้านบาท เป็นพื้นที่ กนอ. ดำเนินการเอง จำนวน  14 แห่ง เป็นนิคมร่วมดำเนินงาน 42 แห่ง บนพื้นที่ 165,608 ไร่ มูลค่าเงินลงทุน 3.82 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการ 4,896 ราย อัตราการจ้างงาน 4.79 แสนคน ปัจจุบันกนอ.มีพื้นที่เหลือ 21,415 ไร่ ส่วนผลการดำเนินงานในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2561-พฤษภาคม 2562) มียอดขายพื้นที่ 1,765 ไร่ เพิ่มขึ้น 76.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 998 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) จำนวน 1,641 ไร่ นอกพื้นที่EEC จำนวน 124 ไร่

สำหรับการลงทุนในพื้นที่EEC ปัจจุบัน มีนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนทั้งสิ้น 34 แห่ง บนพื้นที่ 134,805 ไร่ ประมาณการเงินลงทุน 1.31 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพื้นประกาศเป็นเขตส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรม 21 แห่ง พื้นที่ 88,242 ไร่ แบ่งเป็นระยอง 8 แห่ง ชลบุรี 12 แห่ง ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง โดยแบ่งเขตส่งเสริมฯระยะแรก 2 แห่ง พื้นที่ 3,608 ไร่ เงินลงทุน 2.1 แสนล้านบาท เขตส่งเสริมฯระยะที่สอง 19 แห่ง พื้นที่ 84,634 ไร่ เงินลงทุน 1.048 ล้านล้านบาท

“ปัจจุบัน กนอ.สามารถหากพื้นที่รองรับการลงทุนได้แล้วเกือบ 40,000 ไร่ และคาดว่าภายในปี 2564 จะสามารถหาพื้นที่รองรับการลงทุนได้ครบ 50,000 ไร่ ตามนโยบายของEEC” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว

นางสาวสมจิณณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังมีโครงการที่รอการส่งเสริมอีก 18 โครงการ พื้นที่รวม 35,788 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา 8 โครงการ ,จ.ชลบุรี 6 โครงการ และจ.ระยอง 4 โครงการ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างร่างแผนผังการพัฒนาพื้นที่EEC  โดยจะมีการปรับปรุงสัดส่วนการใช้พื้นที่ใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุนท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 นั้นเตรียมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้ายภายในเดือนกรกฎาคม ตามกำหนดการที่วางไว้ เพื่อประกอบการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่รับทราบทันทีที่เข้าปฏิบัติหน้าที่

ล่าสุด กนอ.ได้ร่วมลงนามสัญญาร่วมกับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด(มหาชน)ดำเนินงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่กว่า 900 ไร่ มูลค่าการลงทุน รวม 2,100 ล้านบาท รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่EEC  ตามนโยบายของภาครัฐ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ การแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจร แปรรูปเกษตร และอุตสาหกรรมเบา เป็นต้น

ทั้งนี้นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เป็นพื้นที่การลงทุนใหม่ในภาคตะวันออกที่ได้ยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมตามโครงการEEC แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA  และเมื่อรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 1 ปี โดยจะพร้อมเปิดรับนักลงทุนที่สนใจเข้าใช้พื้นที่ประกอบกิจการได้ในเชิงพาณิชย์ในราวปี 2564

สำหรับรูปแบบการจัดตั้งนิคมฯ ได้ออกแบบโดยให้ความสำคัญในการพัฒนารอบพื้นที่ทั้งหมดของโครงการฯตามแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco-Industrial Town ประกอบด้วย พื้นที่สีเขียว พื้นที่แนวกันชนแบบเชิงนิเวศ หรือ Eco-Belt รวมถึงการออกแบบให้มีการบริหารจัดการด้านการบำบัดน้ำเสียให้สามารถนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาปรับปรุงคุณภาพ และนำไปใช้ประโยชน์ภายในโครงการใหม่อีกครั้ง (Recycle) เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่ด้วย

“การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) ในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น และ ยุโรป ที่สนใจในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งทางทำเลที่ตั้ง และความพร้อมด้านโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายทางด่วนมอเตอร์เวย์ ทางด่วนบางนา-ชลบุรี ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินแห่งชาติสุวรรณภูมิ ที่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ระบบการขนส่งและการกระจายสินค้าในภาคการผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งนิคมฯดังกล่าว               ยังเป็นพื้นที่เป้าหมายของรัฐบาลที่สามารถยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้ ดังนั้นด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้ กนอ.เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการดึงดูดการลงทุนเข้าไทยมากกว่า 6,000 ล้านบาท และเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ได้มากกว่า 10,000 อัตรา ในอนาคตต่อไป”นางสาวสมจิณณ์ กล่าวในที่สุด

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*