ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับจากไตรมาส 1 ปี 2557 เหตุเพราะไม่มั่นใจต่อทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ รอความหวังรัฐบาลใหม่ออกนโยบายอุ้มธุรกิจ

 

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะรักษาการณ์ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC ) เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ไตรมาส 2 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 42.2 จุด (ต่ำกว่าค่ากลางดัชนีที่ 50.0 จุด) ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 50.4 จุด สะท้อนให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ที่ลดลงจากความไม่มั่นใจต่อทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ยังรอความชัดเจนในเชิงนโยบายที่จะมีผลธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมจากรัฐบาลชุดใหม่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ

ตัวเลขดัชนีฯ ที่ลดลงอย่างชัดเจนในไตรมาส 2 ปี 2562 นี้ เป็นผลจากโมเมนตัมของระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies ที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าอย่างชัดเจน จาก 52.2 จุด ลดลงเหลือ 41.9 จุด (ต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 จุด) และเป็นค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ต่ำกว่าค่ากลางอีกครั้ง ของผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies นับจากไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งมีค่าดัชนีฯ อยู่ที่ 45.5 จุด ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในระหว่างนั้น

ส่วนผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies ก็มีความเชื่อมั่นลดลงในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเช่นกัน  โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 42.7 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 47.7 จุด (ต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 จุด) อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 จุดมาอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2558 (ดูตารางที่ 1 และแผนภูมิที่ 1)

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ในไตรมาส 2 ปี 2562 มีค่าเท่ากับ 58.0 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.4 จุด แต่ยังคงสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อทิศทางของธุรกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยยังให้ความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 61.3 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.9 จุด ผู้ประกอบการฯ กลุ่มนี้ให้ความเชื่อมั่นว่า ภายหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลให้ยอดขายและผลประกอบการของบริษัทขยายตัวขึ้น

ในขณะที่ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 53.1 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.1 จุด แต่ยังคงสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 จุด สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการฯ กลุ่มนี้ก็ยังคงให้ความเชื่อมั่นว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่ยังคงลดลงกว่าไตรมาสก่อนหน้า (ดูตารางที่ 2 และแผนภูมิที่ 2)

อนึ่ง วิธีการจัดทำข้อมูล :ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ออกแบบสอบถามเพื่อจัดทำ “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล” เป็นรายไตรมาส โดยเริ่มจัดทำมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2550

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะแบ่งออกเป็น ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) และดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectation Index) ซึ่งทั้งสองดัชนี จะมีข้อคำถาม 6 ด้าน ได้แก่ ผลประกอบการของบริษัท ยอดขาย สถานการณ์การลงทุน การจ้างงาน ต้นทุนการประกอบการ และการเปิดโครงการใหม่

ในการประมวลผล ศูนย์ข้อมูลฯ จะให้น้ำหนักกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Listed Companies) มากกว่า บริษัทที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Non-listed Companies) ในสัดส่วน 60 : 40 เนื่องจากโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในกรุงเทพฯ – ปริมณฑลปัจจุบันส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 60 เป็นโครงการของ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Listed Companies)

กลุ่มตัวอย่างที่ทำการสอบถาม จะเป็นผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล รวม 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม

การแปลความหมาย : ค่ากลางของดัชนีเท่ากับ 50.0 จุด ดังนั้น หากค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลาง หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นและมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจ ในทางตรงกันข้าม หากค่าดัชนีต่ำกว่าค่ากลาง จะหมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นลดลงและมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ธุรกิจ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*