วันนี้ (24 พ.ค.62) เวลา 09.00 น. ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)  นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยมี นายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กล่าวรายงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน

การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอสาระสำคัญของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นขั้นตอนตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครสู่ “เมืองสร้างสุข” อย่างยั่งยืน

ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อนำเสนอข้อมูลให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีส่วนร่วมในการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีการจัดเวที เพื่อนำเสนอร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ทั้งรายละเอียดแผนผังและข้อกำหนด และมาตรการทางผังเมือง จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงข้อคิดเห็นและซักถามข้อสงสัยต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจจาก ผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้มีการปรับปรุงผังเมืองรวมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันถือเป็นครั้งที่ 4 โดยการจัดทำ ผังเมืองรวม ประกอบด้วย 4 แผนผัง คือ

1.แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการใช้ที่ดินให้เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาเมืองในอนาคตสอดคล้องกับการขยายตัวของประชากร เศรษฐกิจ สังคมระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยสอดคล้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน

  1. แผนผังแสดงที่โล่งเพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพแวดล้อม และการนันทนาการ
  2. แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง แสดงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาและขยายตัวของเมือง
  3. แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เพียงพอเหมาะสมกับการให้บริการ

ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่นำเสนอในวันนี้ ได้เพิ่มเติมแนวคิด “การพัฒนาพื้นที่โดยรอบ สถานีขนส่งมวลชน หรือ (TOD)” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานและมีความหนาแน่นสูงในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน อีกทั้งยังมีการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน หรือ FAR Bonus จาก 5 รูปแบบเป็น 8 รูปแบบ และเพิ่มมาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (TDR) ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความเป็นธรรมให้กับเจ้าของอาคารอนุรักษ์และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และมาตรการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (PUD) ถือเป็นมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ดินสำหรับโครงการขนาดใหญ่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

หลังจากการประชุมในวันนี้ กรุงเทพมหานครจะนำข้อคิดเห็น ไปปรับแก้ไขร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร จากนั้นจึงเสนอต่อคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการผังเมือง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการปิดประกาศฯ 90 วัน ซึ่งจะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงข้อคิดเห็นได้ ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการประกาศราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ต่อไป ซึ่งคาดว่า กรุงเทพมหานครจะมีผังเมืองรวมฉบับใหม่ใช้บังคับแทนฉบับปัจจุบัน ประมาณปลายปี 2563

 

หลากหลายความเห็น “เอื้อกลุ่มทุนใหญ่”

ผู้สื่อข่าว prop2morrow.com รายงานว่า ในการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนครั้งนี้ มีตัวแทนในชุมชนกทม.รวมตัวการคัดค้านร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ พร้อมทั้งมีความเชื่อว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้ และมีหลากหลายความเห็นต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่(ปรับปรุงครั้งที่ 4) อาทิ การลดพื้นที่ก่อสร้างที่จอดรถในอาคารพื้นที่ในเมืองเหลือ 25 % จากเดิม 40%  เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนมากกว่าที่จะพัฒนาเมือง ด้วยเพราะสวนทางกับความเป็นจริง

นางสาววรนันท์ วิวรกิจ กล่าวในฐานะตัวแทนจากชุมชนมหาดเล็กหลวง 1-2  ว่า สาเหตุที่รวมตัวกันคัดค้านผังเมืองฉบับใหม่ เพราะมองว่าไม่สามาถแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้ ทั้งปัญหารถติดในถนนสายย่อย ฝุ่นควัน และอื่นๆ อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วย เช่น การอนุญาตให้ลดการบริการพื้นที่จอดรถในอาคารลง ซึ่งจะทำให้จำนวนรถยนต์ออกมาจอดในซอยมากขึ้น จากเดิมที่จอดรถในอาคารก็มีไม่เพียงพออยู่แล้ว

ด้านศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นำโดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคฯ เป็นผู้นำยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีผังเมืองรวมกทม.ฉบับใหม่เอื้อต่อการพัฒนาอาคารสูงในซอย โดยกล่าวว่า ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายจากการก่อสร้างอาคารสูงเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่พบว่าการก่อสร้างอาคารเหล่านี้มักมีการทำผิดกฎหมายในขั้นตอนต่างๆ อย่างกรณีของซอยร่วมฤดี ที่มีการฟ้องร้องกันมาเป็นสิบปี แม้จะมีคำสั่งศาลให้ทำการรื้อถอน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถบังคับได้  จึงขอให้มีการทบทวนใหม่

*** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*