อสังหาฯฝากความหวังรัฐบาลใหม่ ฟื้นนโยบายสนับสนุน บ้านบีโอไอ– ทบทวนเกณฑ์ LTV ใหม่ปลดล็อคลูกค้าซื้อบ้าน พร้อมระบุ มติครม.ล่าสุดไฟเขียวลดค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน-คอนโดฯไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นเพียงมาตรการเสริมมีผลต่อตลาดโดยรวมไม่มาก

 

จากกรณีที่รัฐบาลรักษาการณ์ได้ออกมาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2 มาตรการ ทั้งมาตรการการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยค่าลดหย่อนให้เป็นไปตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท และ การลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองบ้าน-คอนโดฯราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจากการสอบถามความเห็นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่า เห็นด้วยที่ภาครัฐออกมาตรการเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่มาตรการที่ออกมามีผลต่อตลาดโดยรวมไม่มากนัก

 

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท – พรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลรักษาการณ์ได้ออกมาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผ่านมาตรการต่างๆที่ออกมา แต่ส่วนตัวมองว่า ส่งผลบวกต่อตลาดโดยรวมนั้นมีไม่มาก โดยเฉพาะมาตรการที่มติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่ออกมาล่าสุดการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองบ้าน-คอนโดฯราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทแทบไม่ส่งผลบวกต่อตลาดบ้านโดยรวมเลย

ทั้งนี้ หากจะออกมาตรการหรือนโยบายมาเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นที่จะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ธุรกิจ รวมถึงผู้บริโภค ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ทบทวนอีกครั้งหลังจากที่เคยเสนอต่อรัฐบาลรักษาการณ์ไปก่อนหน้า ดังนี้

1.ส่งเสริมการลงทุนที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางผ่าน “บ้านบีโอไอ” กล่าวคือ ขอให้รัฐบาลนำเอานโยบายและปรับหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง (บ้านบีโอไอ) กลับมาใหม่และเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนต่างๆที่เพิ่มขึ้น เกณฑ์ใหม่บ้านบีโอไอ เพดานบ้านและคอนโดฯที่ระดับราคา 2 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 5 ปี ซึ่งที่ผานมาได้มีการประชุมพร้อมเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

อนึ่ง สำหรับเกณฑ์ราคาบ้านบีโอไอเดิมนั้น กำหนดให้โครงการแนวราบทั้งทาวน์เฮ้าส์-บ้านเดี่ยวมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร (ตร.ม.) ราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท และแนวสูงประเภทคอนโดพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตร.ม. ราคาขายไม่เกิน 1 ล้านบาท จากเดิมกำหนดพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 31 ตร.ม. ทั้งแนวราบและแนวสูงราคาไม่เกิน 6 แสนบาท เงื่อนไขใหม่ดังกล่าวปรับเฉพาะเขต 1 (กรุงเทพฯ/ปริมณฑล) ซึ่งผู้ประกอบการได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% เป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบัน บีโอไอ ได้ยกเลิกนโยบายการส่งเสริ่มแล้ว

2.การลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองบ้าน-คอนโดฯ เป็นเวลา 1 ปี โดยยอมรับว่าที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยและเสนอต่อรัฐบาลให้มีการลดหย่อนเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่จำกัดระดับราคาบ้านเพราะเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจได้มาก โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทนั้นคิดเป็นสัดส่วน 60-70 % หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท จากมูลค่าตลาดโดยรวมกว่า 5 แสนล้านบาท

3.การปรับลดระยะเวลาการเก็บข้อมูลลูกหนี้จากข้อมูลเครดิตบูโรจาก 3 ปีเป็นเหลือ 2 ปี

4.เกฑณ์การปรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ Loan to Value (LTV) นั้น ก่อนหน้านี้ได้เสนอให้เลื่อนการประกาศใช้ไปเป็น 1 มกราคม 2563 รวมถึงให้พิจารณาทบทวนในหลายประเด็นรวมถึงการกู้ร่วมไม่ควรนับรวมเป็นสัญญาที่ 1 เพราะหากนับรวมนั่นเท่ากับว่าจะเสียสิทธิ์หากต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ที่ระบุว่า กฎระเบียบต่างๆของภาครัฐฉบับใหม่ที่ออกมา โดยมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV นั้นมี 2 เด็นที่ต้องการให้ภาครัฐทบทวน คือ 1.การกู้ร่วม ไม่ควรนับเป็นสัญญาที่ 1 เพราะจะเสียสิทธิ์ในการซื้อหรือการกู้ของตัวเอง เพราะจะกลายเป็นสัญญาที่ 2 ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครต้องการที่จะเป็นผู้กู้ร่วมปัญหาที่ตามมาทำให้ยอดการปฎิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น

2 . ประเด็นเกี่ยวกับการคิดมูลค่าทรัพย์สินที่นำมาคิด LTV ที่ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์จะเอาราคาขายที่ผู้ประกอบการลดราคาให้ลูกค้ามาคำนวณ ปัญหาที่ตามมาคือ ยิ่งทำให้ผู้กู้ กู้เงินได้น้อยลง ดังนั้น ตามหลักความเป็นจริงควรยึดราคาประเมินเป็นหลักในการกำหนด LTV

ส่วนมาตรการการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองบ้าน-คอนโดฯ สำหรับราคา ไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้น นายวสันต์ มองว่า เป็นมาตรการเสริมที่ออกมามาตรการมาก่อนหน้าคือ การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยค่าลดหย่อนให้เป็นไปตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท

“จริงแล้วคนที่ซื้อบ้านได้ไม่เกิน 1 ล้านบาทระดับรายได้นั้นก็ไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว” นายวสันต์ กล่าว พร้อมระบุว่า การลดค่าโอนบ้านและคอนโดฯน่าจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่มาสนับสนุนโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของรัฐ(โครงการบ้านล้านหลัง)

ด้านนายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวใหความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองบ้าน-คอนโดฯ ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้น แม้จะไม่ส่งบวกต่อภาพโดยรวมมากนัก แต่อย่างน้อยก็ช่วยตลาดคอนโดฯระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทที่อยู่ชานเมือง หรือตลาดบ้านทาวน์เฮ้าส์ที่อยู่ต่างจังหวัด ที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติที่เป็นโครงการบ้านเอื้ออาทรเดิม รวมถึงบ้านหรือคอนโดฯที่เข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลังของรัฐ

 

อนึ่ง : มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ผ่านการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยค่าลดหย่อนให้เป็นไปตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้มีเงื่อนไขเฉพาะผู้ที่จดทะเบียนซื้อบ้านหลังแรกตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2562  ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2562  และต้องถือครองกรรมสิทธิ์ติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปีนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียน ซึ่งประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา

*** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >>>ลดหย่อนภาษีซื้อบ้านหลังแรก… ผลต่อตลาดบ้านโดยรวม(อาจ)มีไม่มาก

*** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >>>ครม.เคาะแผนอุ้มอสังหาฯระบายSupply บ้าน 6 แสนลบ.

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยให้กระทรวงมหาดไทย (มท.)เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิมร้อยละ 1 ของมูลค่าที่จำนอง เหลือร้อยละ 0.01 ซึ่งครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

*** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>>ครม.ไฟเขียวลดค่าโอนบ้าน-คอนโดฯไม่เกิน 1 ล้านบาท-หนุนโครงการบ้านล้านหลัง

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*