ครม.มีมติลดค่าโอนบ้าน-คอนโดฯราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทตามที่กระทรวงพม.เสนอหวังสนับสนุนประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีบ้านเป็นของตนเอง – ลดซัพพลายในตลาด และสนับสนุนโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของรัฐ(โครงการบ้านล้านหลัง)คาดจะมีครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ประมาณ 58,340 ครัวเรือน มีผลตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

 

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยให้กระทรวงมหาดไทย (มท.)เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิมร้อยละ 1 ของมูลค่าที่จำนอง เหลือร้อยละ 0.01 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)เสนอเพื่อสนับสนุนประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูง โดยการลดภาระให้กับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่ไม่สามารถเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย


หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอสังหาริมทรัพย์ราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อหน่วย (แต่หากราคาซื้อขายเกินกว่า 1 ล้านบาท จะไม่ได้รับสิทธิการลดค่าธรรมเนียมฯ
)ทั้งนี้ ในส่วนของการเรียกเก็บค่าภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีอากร สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการนี้ ให้เรียกเก็บภาษีอากรตามอัตราปกติ โดยประเภทที่อยู่อาศัย นั้นมีดังนี้

  • ที่ดินพร้อมอาคาร หรืออาคาร ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว
  • บ้านแฝด บ้านแถว
  • ห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย
  • ที่ดินพร้อมอาคารหรืออาคาร หรือห้องชุด ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเก่า

อนึ่ง ถ้าเป็นการขายและจำนองที่ดินเปล่าจะไม่ได้รับการลดค่าธรรมเนียม

เงื่อนไขของมาตรการฯ :

  • มูลค่าจำนองเฉพาะวงเงินค่าที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อหน่วย โดยผู้รับจำนอง (ผู้ให้กู้) ต้องเป็นสถาบันการเงินเท่านั้น
  • การจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน
  • ระยะเวลาโครงการ : ระยะเวลา 1 ปี เริ่มต้นให้มีผลตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย
  • วงเงินงบประมาณโครงการ : จำนวนรวม 1,700 ล้านบาท
Cr.ภาพโครงการของการเคหะฯ

ปัจจุบันมีประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง จำนวน 2.87 ล้านครัวเรือนในจำนวนนี้คาดมีสัดส่วน 41 -80 % ที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ดังนั้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จำเป็นต้องใช้มาตรการหลายด้านควบคู่กันไป ทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจและนโยบายที่ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจ โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ได้ผลดีที่สุดคือ นโยบายการคลังซึ่งสามารถนำมาใช้ให้ได้ผลอย่างทันท่วงทีตรงกับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะเจาะจงที่มีปัญหา ได้แก่ การลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ และยังช่วยกระตุ้นตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

 

มาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางดังกล่าว  จะสร้างประโยชน์สาธารณะและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลดีในแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง การลดภาระและเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้สามารถตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้เร็วขึ้น และสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่ยังไม่สามารถเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนักได้ง่ายขึ้น โดยจะมีครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ประมาณ 58,340 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประมาณ 175,020 ราย
  • ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ สามารถช่วยลดอุปทานในตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางในระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เนื่องจากยังมีอุปทานคงเหลือในตลาดอยู่สูง ในขณะที่ลูกค้ายังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยและมีความสามารถรับภาระในการผ่อนค่างวดได้ในระดับที่สูงเช่นเดียวกัน แต่ไม่สามารถเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยได้ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุนอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของรัฐ(โครงการบ้านล้านหลัง)
  • รัฐบาล เป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยการสร้างอุปสงค์ทางด้านอสังหาริมทรัพย์โดยตรงจากรัฐบาล เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย การจ้างงานและผลักดันให้ทุกภาคส่วนนำทรัพยากรที่ยังใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่เต็มที่ออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

อนึ่ง สาระสำคัญของร่างประกาศ

1.กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินพร้อมอาคารหรืออาคารที่อยู่อาศัย ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด  กำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวร้อยละ 0.01 (จากเดิมร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เหลือร้อยละ 0.01) สำหรับกรณีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินพร้อมอาคารหรืออาคารที่อยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถว โดยราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน  1 ล้านบาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

2.ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด กำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนห้องชุดและค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุดอันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนห้องชุดดังกล่าวร้อยละ 0.01 (จากเดิมร้อยละ 1 ของมูลค่าที่จำนอง เหลือร้อยละ 0.01) สำหรับกรณีการโอนกรรมสิทธิ์และการจำนองห้องชุดในอาคารชุด โดยราคาซื้อขาย ไม่เกิน 1 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*