ดุสิตธานี-เซ็นทรัลพัฒนา ประกาศเปิดตัวโมเดลโครงการมิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ทั้งโรงแรม คอนโดฯ ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน รวมมูลค่า 36,700 ล้านบาท  คาดเปิดบริการเต็มรูปแบบภายใน 4-5 ปี มั่นใจศักยภาพที่ดินจุดตัดการคมนาคมทุกรูปแบบ หวังเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่  พร้อมเป็นจิ๊กซอว์สำคัญเชื่อม 4 ย่านสำคัญจาก 4 ทิศกทม.สู่จุดศูนย์กลางเดียว

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC ผู้นำในการพัฒนาธุรกิจโรงแรมและการบริการที่มีประสบการณ์มายาวนานมาถึง 70 ปีเปิดเผยว่า จากการดำเนินธุรกิจโรงแรมดุสิตธานี พระราม4 มายาวนานกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ขณะที่โรงแรมเปิดใหม่ทันสมัยก็มีจำนวนมาก จึงมองว่าสภาพโรงแรมที่ดำเนินการอยู่ไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ และไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะมองว่าที่ดินแปลงดังกล่าวยังมีศักยภาพสูง จึงได้มองหาพันธมิตรที่มีอุดมการณ์เดียวกัน และในที่สุดจึงได้เกิดการร่วมทุนกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน)หรือ CPN ของตระกูล จิราธิวัฒน์ ขึ้นมา ด้วยการก่อตั้ง บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 1,100 ล้านบาท โดย DTC ถือหุ้น 60% และCPN ถือหุ้น 40% เพื่อพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส  “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” (Dusit Central Park) ด้วยแนวคิด “Here For Bangkok”   เพื่อสร้างสรรค์บริบทใหม่แห่งการใช้ชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ และช่วยสร้างกรุงเทพฯ สู่มหานครที่ดีสุดอีกแห่งหนึ่งของโลก
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการดังกล่าวจะอยู่บนพื้นที่เดิมของโรงแรมดุสิตธานีที่มีจำนวน 18 ไร่  และได้ขยายเพิ่มอีก 5 ไร่ รวมเป็น 23 ไร่ และได้ทำสัญญาเช่าที่ดิน จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  เป็นระยะเวลา 30 ปี และได้สิทธิ์ต่อสัญญาเช่าได้อีก 30 ปี รวม 60 ปี (ไม่รวมระยะเวลาการก่อสร้างอีก 7 ปี)
ล่าสุดได้เปิดตัวโมเดลโครงการ“ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่าโครงการ 36,700 ล้านบาท ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้
1.โรงแรม ดุสิตธานี กรุงเทพฯ ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 250 ห้อง สูง 39 ชั้น โดยแต่ละห้องจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เพดานสูงขึ้น รองรับมาตรฐานเรื่องอุบัติภัยและสิ่งแวดล้อมมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ยอดชฎาสีทองซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ และถือเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมเดิม ได้ถูกนำกลับมาออกแบบใหม่บนชั้นดาดฟ้าให้กลายเป็นจุดชมวิวบนยอดสูงของอาคาร  พร้อมพื้นที่สำหรับจัดแสดงแกลลอรี่แบบดิจิตอล และร้านอาหารกับรูฟท็อปบาร์รอบๆ ฐานชฎา คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566

2.ส่วนที่อยู่อาศัยที่เป็น คอนโดมิเนียม สูง 69 ชั้น (299 เมตร) จำนวน 389 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 16,000-17,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 แบรนด์ คือ ดุสิต เรสซิเดนเซส (Dusit Residences) เจาะกลุ่มที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ที่นำเสนอความเหนือระดับด้วยวิวแบบพาโนรามาของสวนลุมพินี และวิวเส้นขอบฟ้าอันสวยงามของกรุงเทพฯ ด้วยจำนวนห้องชุดกว่า 159  ยูนิต ที่มีทั้งขนาด 2-4 ห้องนอน ,เพนท์เฮาส์ พื้นที่ตั้งแต่ 120 – 600 ตารางเมตร และ ดุสิต พาร์คไซด์ (Dusit Parkside) เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ให้ผู้อยู่อาศัยที่ชื่นชอบสีสันและไลฟ์สไตล์ของคนเมืองได้สัมผัสชีวิตคนเมืองในมุมมองใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 230 ยูนิต ประกอบด้วยห้องชุดขนาด 1-2 ห้องนอน พื้นที่ตั้งแต่ 60 – 80 ตารางเมตร พร้อมทั้งได้นำเสนอความหรูหราเหนือระดับ ทั้งพื้นที่ใช้สอยและความพิถีพิถันในทุกรายละเอียด ตลอดจนการเลือกสรรวัสดุที่มีคุณภาพ ด้วยงานออกแบบของดีไซเนอร์ระดับโลก

ด้านราคาขายขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่มั่นใจว่าราคาถูกกว่าโครงการพัฒนาในรูปแบบฟรีโฮลด์ (Freehold) เพราะต้องการให้ผู้บริโภคสามารถซื้อในราคารที่จับต้องได้ โดยไม่มีความกังวลในสัดส่วนของลูกค้าคนไทยและต่างชาติ โดยจะเปิดการขายประมาณไตรมาส3/2562 และแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2567

3.ศูนย์การค้า (เซ็นทรัล พาร์ค) สูง7-8 ชั้น ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 80,000 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นศูนย์การค้าที่มีความทันสมัย สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย โดยจะเปิดตัวประมาณไตรมาส3/2566

4.อาคารสำนักงาน (เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส) สูง 43 ชั้น บนพื้นที่รวมทั้งหมด 90,000 ตารางเมตร พร้อมการออกแบบที่ตอบโจทย์เทรนด์ออฟฟิศยุคใหม่ และความนิยม ใน Sharing Economy ในประเทศไทย โดยได้ออกแบบให้มีความโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว และคำนึงถึงการสร้างสรรค์พื้นที่ให้ผู้เช่าสามารถออกแบบและใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ปลดล็อคพันธนาการทางความคิด เชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์และผลงานให้เกิดขึ้นกับคนทำงาน และยังสร้างความสมดุลในการใช้ชีวิตการทำงานและไลฟ์สไตล์ได้ทุกอณูของพื้นที่ โดยจะเปิดให้บริการในปลายปี 2566

โดยบริษัท วิมานสุริยา จำกัด นี้จะเข้าไปดูแลโครงการและบริหารโรงแรม,คอนโดมิเนียมและศูนย์การค้า  ยกเว้นในส่วนอาคารสำนักงานที่ CPN จะเป็นผู้ดูแล สำหรับเม็ดเงินลงทุน แต่ละฝ่ายจะลงทุนตามสัดส่วน โดย DTC จะมีกำไรจากการดำเนินการในช่วง 5 ปีนี้และเงินกู้โครงการ (project finance) ทยอยเข้ามาลงทุน และไม่กระทบสภาพคล่องของบริษัท รวมทั้งไม่มีเพิ่มทุนแต่อย่างใด

“แม้ว่าบนถนนพระราม 4 จะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นและจะมีการแข่งขันสูง แต่เรามองว่าเป็นทำเลจุดตัด จุดเชื่อมต่อของทุกระบบการขนส่ง ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) รถยนต์ และที่โดดเด่นคือใกล้สวนสาธารณะขนาดใหญ่ โดยทุกอาคารจะดีไซน์ให้เห็นสวนลุมพินีทั้งหมด และยังคงนำตำนานของดุสิตธานีเข้ามาดีไซน์เข้าไว้ด้วยกันด้วย” นางศุภจี กล่าว

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์

ด้านนางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN  กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ Here for Bangkok สิ่งที่ CPNและ DTC กำลังร่วมกันทำจะเป็นมากกว่าการสร้างมิกซ์ยูสทั่วไป แต่เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะบุกเบิกและพลิกโฉมกรุงเทพฯ และสร้างซูเปอร์คอร์ซีบีดี (Super Core CBD) ซึ่งจะเป็นหมุดหมายหรือจิ๊กซอว์สำคัญที่เชื่อมโยง 4 ย่านสำคัญจากทั้ง 4 ทิศของกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่ใจกลางเดียว ได้แก่ ย่านราชประสงค์ทางทิศเหนือ เจริญกรุงทางทิศใต้ สุขุมวิททางทิศตะวันออก และ เยาวราชทางทิศตะวันตก ทำให้เกิดเป็น “The New Junction” ที่เชื่อมโยงทุกย่านสำคัญของกรุงเทพฯ และสิ่งสำคัญกว่านั้นคือเชื่อมให้ทุกย่านรอบๆ นี้ให้เติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นจุดกลางเชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งย่านเก่าและย่านใหม่ รวมถึงย่าน Financial เข้ากับย่าน Commercial ซึ่งจะช่วยยกระดับผังเมืองกรุงเทพฯ ให้เชื่อมต่ออย่างลงตัวที่สุด ตอบโจทย์ทั้งทางธุรกิจและไลฟ์สไตล์ ซึ่งจะสร้างบริบทใหม่แห่งการใช้ชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ พร้อมทั้งยกระดับพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของโลก ด้วยคุณภาพที่เหนือระดับของการมีที่พักอาศัย ทำงาน และช้อปปิ้ง ในโครงการที่อยู่ติดกับสวนที่ถือเป็นปอดขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับย่านดังต่างๆ ในมหานครระดับโลกอย่าง London หรือ New York City

นางศุภจี กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการที่บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN เข้ามาถือหุ้นใน DTC จำนวน 42.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด จำนวน 850 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 12 บาท มูลค่ารวมประมาณ 510 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมานั้น ก็คงจะเป็นการร่วมทุนในการพัฒนาโครงการอื่นในอนาคต โดยไม่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค”แต่อย่างใด