ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เผยรัฐบาลยังให้ความสำคัญธุรกิจอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการภาครัฐและเมกะโปรเจกต์ ทั้งเร่งผุดSmart City หวังลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญทั่วประเทศ  แนะรัฐบาลใหม่สานต่อนโยบายโครงข่ายรถไฟฟ้า M-MAP 2 ครบ 20 สาย หวังนำพาประเทศก้าวหน้า หลังรอมานาน 130 ปี

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  ในฐานะประธานในพิธี เปิดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 40 เปิดเผยว่างานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นับเป็นงานแสดง สินค้าที่อยู่อาศัยใหญ่ที่สุด โดยมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก พร้อมกันนำสินค้าหลากหลายโครงการมาจัดแสดง เพื่อให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปที่กำลังเลือกซื้อที่อยู่อาศัย โดย 3 สมาคมผู้จัดงาน ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย ได้ทำให้เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องง่าย มาที่เดียวจบทุกราคา ทุกประเภท ทุกทำเล ตรงกับความต้องการมากที่สุด นอกจากนี้ ผู้ซื้อยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งจาก ผู้ประกอบการและแคมเปญกระตุ้นยอดขายจากผู้จัดงานอีกมากมาย

 

“ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจอื่นๆ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยเฉพาะโครงสร้างสาธารณูปโภคด้านการคมนาคมกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นสิ่งคู่กัน ตลอดมา พื้นที่ใดถนนตัดผ่านย่อมเกิดการขยายตัวสร้างความเจริญสู่ชุมชนใหม่ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทย ให้ก้าวสู่การเป็นประเทศผู้มีรายได้สูง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญไปทั่วประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการ ดังนั้น โครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนของการพัฒนาประเทศ เนื่องจากการเกิด Smart City มีลักษณะความอัจฉริยะใน 7 ด้าน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้าน เศรษฐกิจ การขนส่ง พลังงาน สิ่งแวดล้อม การดำรงชีพ พลเมือง และการบริหารงานภาครัฐ”ดร.ไพรินทร์ กล่าว

 

ดร.ไพรินทร์ กล่าวเพิ่มถึง โครงการรถไฟฟ้าเฟส 1 จำนวน 10 สาย ว่า พร้อมจะเปิดให้บริการครบทุกสายภายใระยะเวลา 5 – 6 ปี สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นวันละราว 2.7 ล้านคน ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เริ่มวางแผน งานพัฒนาเฟส 2 ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 เพื่อขยายรัศมีโครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเน้นไปที่พัฒนาสถานีเพื่อเชื่อมต่อการขนส่งทุกรูปแบบ ทั้งรถเมล์  เรือโดยสาร และท่าอากาศยาน และเชื่อว่ายังมีงานอีกมากมายที่จะดำเนินการต่อ เพื่อให้การพัฒนาประเทศ มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบต่อไป โดยการขยายรถไฟฟ้า เฟส2 มีกรอบแนวคิด 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1.ใช้รถไฟฟ้าในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้ใช้ประโยชน์สูงสุด

2.เน้นการใช้วัสดุในประเทศและพัฒนาบุคลากร

3.ลดต้นทุนในการลงทุนระบบ

4.เป็นรถไฟฟ้า เพื่อคนทุกกลุ่ม โดยที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะหาพื้นที่แนวรถไฟฟ้าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยรองรับผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง

5.เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองบริวาร

 

สำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าจะทำให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบของ TOD  : Transit Oriented Development หรือการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน โดยในแผนของ M-MAP 2 รถไฟฟ้าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาเมือง และกระจายความเจริญออกไปสู่รอบนอก โดยได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในรัศมี 40 กิโลเมตร ,20 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร โดยมีสถานีสยาม สีลม มักกะสัน และพระราม 9 เป็นสถานีศูนย์กลาง โดยมีศูนย์พาณิชยกรรมการหลัก หรือที่เรียกว่า CBD : Central Business District อยู่ที่ พญาไท ปทุมวัน สีลม สาทร อโศก และมี sub CBD อยู่ที่ ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน หรือบริเวณสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์คมนาคมมักกะสัน และศูนย์คมนาคมตากสิน

 

โดยพื้นที่ชานเมืองในรัศมี 20-30 กิโลเมตร จะประกอบไปด้วย สมุทรปราการ ลาดกระบัง มีนบุรี รังสิต (เน้นพื้นที่มหาวิทยาลัย) บางใหญ่ ศาลายา บางขุนเทียน ส่วนเมืองรองในรัศมี 40 กิโลเมตจร ที่เป็นไปหมาย ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาครฉะเชิงเทรา

 

สำหรับแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าเฟส 2 ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้ทำการศึกษาร่วมกับ Japan International Cooperation Agency (JICA) เบื้องต้นมี 5 เส้นทาง ได้แก่

1.สายสถานีแม่น้ำ-บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 33 กิโลเมตร รองรับกับการเติบโตของเมืองฝั่ง จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง

2.ส่วนต่อขยายสายสีเทา ช่วงรามอินทรา-ลำลูกกา ระยะทาง 14 กิโลเมตร รองรับการเติบโตของ จ.ปทุมธานี

3.สายรังสิต-ธัญบุรี ระยะทาง 12 กิโลเมตร รองรับการเติบโตพื้นที่โซนเขตเทศบาลนครรังสิต และ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

4.สายสถานีขนส่งสายใต้จากบรมราชชนนี-หลักสี่ ระยะทาง 30 กิโลเมตร รองรับเส้นทางคมนาคมที่มีหลากหลาย และรองรับผู้โดยสารจากสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้

5.สายบางหว้า-ตลิ่งชัน-นนทบุรี-บางกะปิ แนวเส้นทางจะเป็นลักษณะวงแหวน มีระยะทาง 42 กิโลเมตร จะรองรับพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าเข้าไปถึง และเป็นระบบสายรองที่รองรับโครงข่ายหลักทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในปี 2563

 

“รัฐบาลใหม่ต้องสานต่อนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลนี้ทำไว้ ที่เดินไปแล้วภายใต้M MAP1 จำนวน 10 สายในรัศมี 20 กิโลเมตร โดยยังมีแผนการก่อสร้าง รถไฟฟ้าอีก 10 สาย ภายใต้ M-MAP2 ซึ่งอยู่รัศมีรอบนอกอีก 40 กิโลเมตร อาทิ จะเชื่อมไปถึงจ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งการพัฒนานี้ไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาฯ แต่ยังช่วยพัฒนาประเทศในภาพรวม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 20 สายนี้ ประเทศไทยเรารอมาแล้วถึง130 ปี หลังจากที่ไม่ได้มีการพัฒนาระบบรางมานับตั้งแต่เปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพง และยังมีโครงการอื่นๆอีกมากมายที่รัฐบาลใหม่ต้องสานต่อ เพื่อความก้าวหน้า เพราะโครงสร้างพื้นฐานเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ”ดร.ไพรินทร์ กล่าว

 

ดร.ไพรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมารัฐบาลได้เปิดโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา สำหรับปีนี้จะขยายแผนงานไปยัง 24 จังหวัด และคาดว่าภายในเวลา 5 ปีจะขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ทำการเปิด รับสมัครเมืองทั่วประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาเป็น Smart City เมื่อผ่านเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด เมืองเหล่านั้นก็จะได้รับ ตราสัญลักษณ์ Smart City สามารถขอรับสิทธิส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้

 

นอกจากนี้ ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ตั้งแต่ปี 2558 – 2565 กระทรวงคมนาคม ยังมุ่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทุกโครงข่าย ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศ รวมถึงการ สร้างสถานีขนส่ง หรือจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางด้วยการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน หรือ Transit Oriented Development เพื่อช่วยกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคตามแนวสายทางการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม แหล่งงาน และแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นต้น