ผู้ประกอบการยังแห่ผุดคอนโดฯ แนวรถไฟฟ้าต่อเนื่อง พบห้องชุดสร้างเสร็จจดทะเบียนแล้วในกทม. ณ สิ้นปี 61 จำนวน 591,138 ยูนิต เพิ่มขึ้น 43 % เทียบปี 47 ระบุสายสีน้ำเงิน ระบุผลสำรวจพบแนวสายสีน้ำเงินมีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากสุด 45,831 ยูนิต เผยเอกชนยังเลือกพื้นที่ชุมชน มีสิ่งอำนวยความสะดวกผุดโครงการ

 

 

นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้เชี่ยวชาญข้อมูลฝ่ายวิจัยการตลาดอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงตลาดอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ ว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วและมากมายหลังจากที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าเปิดให้บริการเส้นทางแรกตั้งแต่ปี 2542 โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่มีโครงการเปิดขายใหม่ต่อเนื่องในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และเริ่มมีมากขึ้นเมื่อเส้นทางรถไฟใต้ดินเปิดให้บริการในอีก 5 ปีต่อมาในปี 2547 โดยเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาที่ดินตลอดแนวเส้นทาง เมื่อราคาที่ดินสูงขึ้นจึงมีผลให้การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่นๆ ได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ผู้ประกอบการที่ซื้อที่ดินไปจึงมุ่งแต่การพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเท่านั้น

 

คอนโดมิเนียมสร้างเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดแล้วในกรุงเทพมหานครแยกตามพื้นที่

ที่มา: กรมที่ดินและสุรเชษฐ กองชีพ

หมายเหตุ: แนวเส้นทางรถไฟฟ้าปัจจุบันคือ เส้นทางรถไฟฟ้า BTS และรถไฟใต้ดิน MRT ที่เปิดบริการแล้วในปัจจุบันรวมไปถึงสายสีม่วงโดยนับเฉพาะเส้นทางที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น

 

จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางมีจำนวนมากขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยกว่าพื้นที่รอบนอกก็ตาม (พื้นที่รอบนอกมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าหลายเท่า) แต่สัดส่วนของจำนวนคอนโดมิเนียมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางที่เปิดให้บริการแล้วก็มากขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดย ณ สิ้นปี 2561 จำนวนคอนโดมิเนียมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางอยู่ที่ 43 % เมื่อเทียบกับจำนวนคอนโดมิเนียมทั้งหมดที่สร้างเสร็จจดทะเบียนแล้วในกรุงเทพมหานคร ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 591,138 ยูนิต เมื่อเทียบกับจำนวนคอนโดมิเนียมตามแนวพื้นที่เส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางที่อยู่ที่ประมาณ 20 % ในปี 2547 จากจำนวนคอนโดมิเนียมทั้งหมด 182,526 ยูนิต

 

นอกจากนี้สัดส่วนนี้จะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2562 เป็นต้นไป เพราะมีเส้นทางรถไฟฟ้าอีกหลายสายที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2562 และอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งตั้งแต่ช่วงที่มีการประกาศว่าจะเริ่มการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าต่างๆ ในกรุงเทพมหานครก็มีผู้ประกอบการเข้าไปซื้อที่ดินและเริ่มการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมกันแล้วซึ่งจากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากที่สุด

 

คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่สะสมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างตั้งแต่ปี 2552- 2561

ที่มา: รวบรวมโดยสุรเชษฐ กองชีพ

 

เส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างบางเส้นทางเพิ่งจะเริ่มในปี 2560 – 2561 แต่บางเส้นทางเริ่มการก่อสร้างมาก่อนหน้านั้นแล้ว จำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่สะสมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ณ สิ้นปี 2561 มีจำนวนประมาณ 45,831 ยูนิต เส้นทางนี้เริ่มการก่อสร้างเป็นรูปธรรมในปี 2554 และเป็นเส้นทางที่จะเปิดให้บริการในปี 2562 – 2563 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตามแนวถนนประชาราษฎร์สาย 2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนเพชรเกษม รวมไปถึงพื้นที่ตามแนวถนนสายรองและซอยย่อยต่างๆ จึงเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่สะสมมากที่สุดตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาถึงสิ้นปี 2561

 

พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าอื่นๆ อาจจะมีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่สะสมน้อยกว่าพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแบบชัดเจน เพราะเพิ่งเริ่มการก่อสร้างในช่วงปี 2560-2561 หรืออาจจะก่อนหน้านี้แต่พื้นที่ตลอดแนวเส้นทางไม่ได้เอื้อให้ภาคเอกชนเข้าไปพัฒนาพื้นที่ เช่น พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง แต่ในอนาคตพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างต่างๆ เหล่านี้จะเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายมากขึ้นแน่นอน โดยเริ่มมีให้เห็นแล้วว่ามีผู้ประกอบการเข้าไปซื้อที่ดินและเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้นแบบเห็นได้ชัดในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนเหนือ สายสีส้ม สายสีเหลือง และสายสีชมพู แต่ผู้ประกอบการยังคงเลือกพื้นที่ที่มีความเป็นชุมชนมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับอยู่แล้ว เช่น พื้นที่ตั้งแต่ 5 แยกลาดพร้าวขึ้นไปถึงแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนเหนือ พื้นที่รอบสถานีหัวหมากและลำสาลีของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก เป็นต้น

 

ส่วนราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 10-20% ต่อปีขึ้นไปถึง 2 เท่าหรือมากกว่านั้นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้มีแต่โครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ารวมไปถึงข้อบังคับในผังเมืองที่มุ่งเน้นให้พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ามีศักยภาพสูงกว่าพื้นที่ที่ไหลออกไป ดังนั้นพื้นที่ที่อยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมต่อไปในอนาคตและจำนวนจะมากขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน