“อนันต์ อัศวโภค” มั่นใจอสังหาฯ ปี 62 ชะลอตัว ผู้ประกอบการสินทรัพย์-หนี้สินมาก แต่กำไรไม่โต เชื่อมี Layoff เพียบ แนะบริหารสภาพคล่องทางการเงินให้มาก เตือนทำแนวสูงหันรุกแนวราบ ระวังเจ๊งได้ เหตุผู้รับเหมาฯ ไม่มีคุณภาพ เชื่อเลือกตั้งใหม่สถานการณ์ดีขึ้น

 

 

นายอนันต์ อัศวโภคิน ผู้ก่อตั้งบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) หรือ LH เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปี 2562 ว่า จะชะลอตัวลง จะเห็นว่าที่ผ่านมาหลายบริษัทมีสินทรัพย์ที่มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีหนี้สินที่มาขึ้นเช่นกัน แต่กำไรสุทธิกลับไม่เติบโตขึ้น ซึ่งน่าจะถึงจุดที่ผู้ประกอบการต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เพราะเริ่มจะมีปัญหาด้านการเงิน มีการจ่ายเงินผู้รับเหมาก่อสร้างช้าลง บางโครงการยอดขายไม่คืบหน้าก็จะยกเลิกการพัฒนาไป  ทำให้ในตลาดจะเหลือแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่แข่งขันกันเอง ถือเป็นวัฏจักรในธุรกิจ จาก 4-5 ปี ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างมียอดขายที่ดีกันมาแล้ว  ส่วนสถาบันการเงินยังคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อโครงการ เช่น เคยปล่อยสินเชื่อ 100 ล้านบาท อาจจะเหลือเพียง 50 หรือ 60 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็คุมเข้มสินเชื่อรายย่อยเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเช่นกัน  โดยสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น หนี้ครัวเรือนสูง วินัยการออมเงินก่อนซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยยังไม่ดีพอ  เพราะสามารถกู้เงินได้เต็มจำนวนบางรายสูงกว่าราคาบ้าน เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวหรือการเงินตรึงตัวก็จะกลายเป็นหนี้เสียทันที ทำให้มี Non-Performing Loan (NPL) เพิ่มขึ้น

 

โดยสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้จะไม่ร้ายแรงเท่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่สถาบันการเงินล้มทั้งหมด แต่ครั้งนี้เหมือน Soft Landing  เพราะทุกคนมีความระมัดระวัง ธนาคารมีเงินสำรองมาก มีสภาพคล่องดี ผู้ประกอบการเองก็เป็นหนี้น้อย  ซึ่งแนะนำว่าหากผู้ประกอบการรายใดคาดว่าจะมีปัญหาการชำระเงิน ควรปรึกษาสถาบันการเงินล่วงหน้าก่อนเกิดปัญหา เพื่อจะได้ปรับโครงสร้างหนี้ และจะได้ไม่ทำให้ตื่นตระหนก ซึ่งสถาบันการเงินเองก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเพราะมีเงินมากอยู่แล้ว แต่คิดว่าหากมีการเลือกตั้งขึ้นมา สถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ขณะนี้เริ่มเป็นห่วงว่าหลายบริษัทฯ ที่มีการรับบุคลากรเข้ามาทำงานจำนวนมากเมื่อหลายปีที่ผ่านมา อาจจะประสบปัญหาแบกรับภาระด้านค่าจ้าง และส่งผลให้มีการ Layoff ได้ ดังนั้นต้องระวังเรื่องการดูแลกระแสเงินสดไว้ให้มากที่สุด

 

“ทุกๆ 8 – 10 ปี ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะก้าวเข้าสู่สภาวะชะลอตัว โดยในปี 2562 ถือเป็นปีที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะก้าวเข้าสู่สภาวะชะลอตัวจากหลายปัจจัย เช่น สถาบันการเงินคุมเข้ม การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Post-finance) มากขึ้น ตลาดผู้ซื้อชาวต่างชาติชะลอตัวลง กำลังซื้อภายในประเทศ  ไม่เติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดมิเนียมเริ่มมีสัญญาณโอเวอร์ซัพพลายในบางทำเลและมีอัตราการดูดซับช้าลงจากช่วงที่ผ่านมา นี่คือเรื่องที่เราต้องตระหนัก แต่ไม่ต้องตระหนก เพราะสถานการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คือเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เป็น “วัฏจักร” สิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการคือ ต้องรู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร จะพลิกเกมอย่างไร และต้องหันมาพัฒนาและขายสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดจริงๆ ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่หยุดเรียนรู้ เพราะยิ่งธุรกิจ   มีปัญหา ยิ่งต้องหาความรู้” นายอนันต์ กล่าว

 

นายอนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีความห่วงใยผู้ประกอบการที่เคยพัฒนาโครงการแนวสูง แล้วหันไปพัฒนาโครงการแนวราบ อาจจะต้องระวังในเรื่องของแรงงานก่อสร้าง เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ส่วนมากจะรับงานเฉพาะอาคารสูงเท่านั้น ขณะที่งานก่อสร้างแนวราบจะมีเฉพาะผู้รับเหมาฯ รายย่อย ซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณภาพและแรงงาน ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องบริหารจัดการงานก่อสร้างให้ดี