สำนักผังเมืองกทม.เตรียมเปิดประชาพิจารณ์รอบสุดท้ายธ.ค.61นี้ หวังสร้างเมืองให้กระชับ เชื่อมปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ  สอดรับการขยายตัวรถไฟฟ้า 12 เส้นทาง ส่งผลผังสีเปลี่ยนเพิ่มประโยชน์การใช้ที่ดิน คาดพร้อมประกาศใช้ปี63 ด้านกรมทางหลวงกางแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะเวลา 20 ปี 

นายแสนยากร อุ่นมีศรี รักษาการ ผู้อำนวยการผังเมือง สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้เตรียมเปิดประชาพิจารณ์ผังเมืองกรุงเทพมหานครรอบสุดท้ายเดือนธันวาคม 2561 นี้ก่อนจะเสนอต่อคณะกรรมการกรมโยธาธิการและผังเมืองต่อไป โดยการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นจะทำให้เมืองมีความกระชับ แต่เชื่อมโยงในปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ เพื่อให้สอดรับกับการขยายตัวของโครงการรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นซึ่งรวมแล้ว 12 เส้นทาง ระยะ 508 กิโลเมตร 318 สถานี สถานีรวม 39 สถานี ซึ่งจะทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังเพิ่มการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มากขึ้น  คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปี 2563 

 

โดยผังเมืองกทม.ฉบับก่อนหน้านั้นใช้มาตั้งแต่ปี 2556 มีอายุ 5 ปี ต่อได้ 2 ปี  แต่หลังจากที่ได้ปรับโครงสร้างจากสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นสำนักงานวางผังและพัฒนาเมือง โดยจะมีคณะกรรมการบริหารเมืองประกอบด้วยผู้ว่าราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ทำงานร่วมกับงานทางด้านงานโยธา การจราจร ซึ่งผังเมืองจะไม่มีการหมดอายุ ปัจจุบันกรุงเทพฯมีพื้นที่ 1,507 ตารางกิโลเมตร

 

“ผังเมืองกรุงเทพฯ จะต้องมีความสอดคล้องกับปริมณฑล เพราะมีระบบรางเข้ามาเชื่อมต่อ  แต่ก็มีอุปสรรคคือกฎหมายควบคุมอาคาร ในด้านปัญหาความกว้างของถนน ตรอก ซอยแคบ การวางผังจะดีอย่างไรก็ทำอะไรไม่ได้ ระบบรางเปลี่ยนแปลงไป  จะพัฒนาอย่างไรเพื่อให้กทม.เป็นเมืองกระชับ โดยปัจจุบันข้อมูลจดทะเบียนอาคารเฉพาะในกทม.มีมากถึง 3.1 ล้านอาคาร” นายแสนยากรกล่าว

 

นายแสนยากร กล่าวต่อไปว่าผังเมืองฉบับใหม่จะส่งเสริมให้เกิดศูนย์พาณิชยกรรมหลักย่านใหม่ เช่น นิวซีบีดี พระราม 9 เป็นต้น ขณะที่หลักการและแนวคิดเบื้องต้น (ร่าง) ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน  อย่างพื้นที่ใจกลางเมืองเขตพระนคร ป้อมปราบ เดิมเป็นสีน้ำตาลเข้มได้เปลี่ยนเป็นสีแดง เพื่อพัฒนาเป็นพาณิชยกรรม เขตวัฒนา จากเดิมเป็นผังสีน้ำตาลจะปรับเป็นผังสีแดง เพื่อเพิ่มประโยชน์การใช้ที่ดินมากขึ้น เพราะเดิมมีปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่บางทำเลไม่ใช่ผังสีแดงจะดี บางพื้นที่ศักยภาพในการใช้ประโยชน์อาจจะต่ำกว่าสีน้ำตาลก็เป็นได้

 

สำหรับด้านเหนือกทม. ได้แก่ บางซื่อ หลักสี่ ประโยชน์จะใช้ที่ดินให้สีผังจะเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก โดยจะเปลี่ยน เป็นสีส้ม บริเวณหลักสี่ ดอนเมือง จตุจักร แต่ยังไม่ปรับมากเท่าโซนตะวันออกของกทม.  เพราะมีประชากรหนาแน่นมาก เช่น บึงกุ่ม วังทองหลาง มีประชากรมากกว่า 200,000 ครัวเรือน   โดยจะเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Floor Area Ratio)   0.5-1.5%  เป็นต้น

 

พื้นที่ฝั่งตะวันตก การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มและสายสีแดงอ่อน บริเวณพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2) การต่อเชื่อมการใช้ประโยชน์ที่ดินกับผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรี การส่งเสริมศูนย์ชุมชนชานเมืองฝั่งตะวันตกตลิ่งชัน และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.3) เป็นประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.4) เพื่อส่งเสริมสภาพความเป็นชุมชนในพื้นที่เกษตรกรรมด้านตะวันตกตอนบนของกรุงเทพฯ

 

นอกจากนี้มีการเจรจากันถึงเรื่องการเทรด FAR หรือการโอนสิทธิ์การใช้ประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งทางกฎหมายจะต้องมีความชัดเจน เมื่อขายสิทธิ์ไปแล้วการลงทะเบียนจะทำอย่างไร  ขณะที่มาตรการทางผังเมืองจุดตัดหลักๆ จะขยายโบนัสเพื่อให้พัฒนาได้มากขึ้น ออกไป 800 เมตร จากเดิม 500 เมตร  นอกจากนี้จะมีการปลดล็อกโรงแรมให้ที่ตั้งอยู่ใกล้สถานรถไฟฟ้าที่ไม่ต้องถูกบังคับการก่อสร้างจากเกณฑ์ความกว้างถนนจากมาตรการผังเมือง เป็นต้น

ด้านนายอธิป  พีชานนท์  นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ผังเมืองกทม.ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ ถึอว่ามีการเพิ่มการใช้ประโยชน์ในที่ดินได้มากขึ้น ซึ่งเหมาะกับที่ดินในเมืองที่มีจำกัด และราคาแพง  ขณะนี้ยังเหลืออีกหลายขั้นตอน ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการอีกหลายชุด จนกว่าจะประกาศใช้  อาจจะมีการตัดทอนหรือเพิ่มจากที่สำนักผังเมืองกทม.เสนอ ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2563

ดร.ปิยพงศ์ จิวัฒนกุลไพศาล  รักษาการวิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ กรมทางหลวง กล่าวว่า กรมฯมีแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล โครงข่ายมอเตอร์เวย์ 21 เส้นทาง ระยะทาง 6,612 กิโลเมตร ให้เป็นเส้นทางหลัก มีความปลอดภัยสูง เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภาค, เชื่อมการเดินทางระหว่างเมืองหลักและพื้นที่สำคัญ รวมถึงด่านการค้าชายแดน ตามแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ,เชื่อมโยงกับโครงข่ายคมนาคมขนส่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดการขนส่งหลายรูปแบบ และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

โดยปัจจุบันการเติบโตของกทม.-ปริมณฑล มีแนวโน้มขยายไปทางด้านเหนือ อาทิ ปทุมธานี นนทบุรี และตะวันตก อาทิ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม เป็นจำนวน มาก ซึ่งกรมทางหลวงก็มีแผนพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ได้  ซึ่งแนวทางการพัฒนาโครงข่ายฯรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มี 3 เรื่องหลัก คือ 1.แก้ไขปัญหาการจราจรของการเดินทางภายในพื้นที่ 2.เพิ่มความสะดวกรวดเร็วของการเดินทางและขนส่งสินค้า เชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกไปยังภูมิภาคต่างๆ 3.รองรับการจราจรวิ่งผ่านพื้นที่ลดความแออัดของเมืองชั้นใน

สำหรับแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง ระยะ 5 ปี (ปี 2561-2565) จะเกิดขึ้นบริเวณโซนทิศเหนือและทิศตะวันตกของพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของเมือง ได้แก่ 1.มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช 2.มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี 3.มอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว 4.มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 5.มอเตอร์เวย์รังสิต-บางปะอิน 6.วงแหวนกาญจนาภิเษกตะวันตก7.มอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ