แกรนด์โฮมมาร์ท รีแบรนด์ปรับกลยุทธ์สนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล รุกขยายสาขาต่างจังหวัดรองรับการลงทุนภาครัฐ ตั้งเป้า 5 ปี ผุด 200 สาขาทั่วประเทศ รวมเม็ดเงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท ทั้งรูปแบบลงทุนเอง-ร่วมทุนพันธมิตรท้องถิ่น สนธุรกิจโลจิสติกส์ซัพพอร์ตสินค้าส่งสาขา ตจว. ประกาศปีหน้าพร้อมเข้าสู่ดิจิทัลรีเทล เพิ่มช่องทางสื่อสาร คาดยอดขายปี 62 แตะ 5,200 ล้านบาท

 

 

นางประไพ ทยานุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์โฮมมาร์ท จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์วัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้าน เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดวัสดุก่อสร้างในปี 2562 ว่า มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม(สศอ.)พบว่าจะมีอัตราการเติบโตจากการลงทุนของภาครัฐ และอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยปี 2560 กลุ่มกระเบื้อเซรามิค มีกำลังการผลิต 168.5 ล้านตารางเมตร ,ปี2561 มีกำลังการผลิต 169 ล้านตารางเมตร และปี 2562 คาดว่าจะอัตราการเติบโตจากปี 2561 ประมาณ 2%

 

สำหรับภาพรวมตลาดฯในปีนี้พบว่า มีการจำหน่ายผ่านช่องทางการขายแบบดั้งเดิม(Traditional Trade) 70% และขายผ่านโมเดิร์นเทรด 30% จากมูลค่าตลาดรวม 33,000 ล้านบาท ซึ่งแต่ละปีจะมีอัตราการเติบไม่เกิน 5%

 

ทั้งนี้มองว่าปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งจากเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้น บริษัทฯจึงพยายามรีแบรนด์ ในด้าน core value เป็น minor change ให้แข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยการปรับกลยุทธ์สัดส่วนรายได้จากธุรกิจค้าปลีกให้มากขึ้น จาก 6 เหตุผลหลักที่จะทำให้ธุรกิจรีเทลแข็งแกร่งมากขึ้น

1.การแบ่งธุรกิจที่ชัดเจนของโชว์รูมแกรนด์โฮมแต่ละประเภท ได้แก่GRANDHOME CONCEPT,GRANDHOME VARITY และGRANDHOME  OUTLET 

 

 2.แต่และกลุ่มสามารถตอบสนองลูกค้าได้ทั้ง 4 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการอสังหาฯ,เจ้าของบ้าน,ดีไซน์เนอร์ และผู้รับเหมาก่อสร้าง 

 

3.เพิ่มสินค้าที่หลากหลายมากกว่า 65,000 SKU โดยมีการเพิ่ม 6หมวดหลักให้ชัดเจนมากขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ฟ้า,เฟอร์นิเจอร์,ประตู-หน้าต่าง,สีและซอร์ฟแวร์ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 4 หมวด คือ กระเบื้อง,สุขภัณฑ์,ครัวและ สินค้าประเภทDo-It-Yourself : DIY

 

 4.เติมเต็มการบริการใหม่ที่ทำให้ลูกค้าสบายใจ ด้วยG-SOLUTIONS ประกอบด้วย G-DESIGN บริการสร้าง      แรงบันดาลใจด้วยเทคโนโลยี 3D VISION ให้ภาพเสมือนจริงแบบ 360 องศา แห่งเดียวในไทย ,G-CREATION บริการแปรรูปกระเบื้อง และบริการออกแบบเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน ,G-DELIVERY บริการจัดส่งและติดตามการจัดส่ง ,G-SERVICE บริการออกแบบและต่อเติมบ้าน บริการติดตั้งวัสดุและสินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า,G-ASSISTANT บริการให้ข้อมูลสินค้าและบริการ ผ่าน Call Center และเว็บไซต์  และ G-LIFESTYLEบริการธุรกิจร้านอาหาร และบริการให้เช่าพื้นที่จัดเลี้ยง พื้นที่ Co working Space ห้องประชุม และห้องสัมมนา

 

 5.ทำงานในเชิงลึกมากขึ้น กับ “คู่ค้า”ในโครงการต่างๆ เพื่อสร้างคุณค่าสูงสุดของ GRANDHOME  6.มีผู้บริหารรุ่นใหม่ที่พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล เพื่อสร้าง GRANDHOME  เป็น DIGITAL RETALL มากขึ้น

 

นอกจากนี้บริษัทฯยังมองเห็นช่องว่างทางการตลาดที่จะขยายไปต่างจังหวัด เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมาร้านค้าวัสดุก่อสร้างหลายรายเริ่มปิดกิจการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทายาทไม่สืบทอดธุรกิจ ทำให้มองเห็นโอกาสดังกล่าว ดังนั้นภายในระยะเวลา 5 ปี บริษัทฯจึงมีแผนที่จะขยายแกรนด์โฮมในรูปแบบของ Outlet ทั่วประเทศให้ได้ 200 สาขา รวมมูลค่าลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท เพราะภาครับมีการขยายการลงทุนทุกภาคอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการดำเนินการของบริษัทฯจะเป็นทั้งการลงทุนเอง ในรูปแบบการเข้าไปเช่าที่ดินระยะ 3 ปี และการร่วมทุนกับเจ้าของที่ดินในพื้นที่ เพื่อลดต้นทุน โดยแต่ละสาขาจะมีขนาดตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 500-3,000 ตารางเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดที่ดิน มูลค่าการลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท/สาขา โดยสาขาแรกที่ขยายฐานไปในต่างจังหวัดคือ ย่านกระทิงลาย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั้งเจ้าของบ้านและผู้รับเหมาก่อสร้างและในปี 2562 จะขยายไปยัง 3 จังหวัดพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  (Eastern Economic Corridor: EEC) จำนวน 10 สาขา โดยคาดว่า 2 สาขาแรกที่จะเปิดได้ก่อนคือ ระยองและสัตหีบ ซึ่งแต่ละสาขาจะถึงจุดคุ้มทุนภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปี ปัจจุบันบริษัทฯมีสาขาในกทม.และปริมณฑล จำนวน 6 สาขา ได้แก่ งามวงศ์วาน รัตนาธิเบศร์ ศรีนครินทร์ รามอินทรา บางบัวทองและบางนา

 

อีกทั้งยังมีแผนที่จะวางระบบขนส่งเพื่อรองรับการขยายสาขาในต่างจังหวัดด้วย  ด้วยการเจรจาดีลกับพันธมิตรในการฝากสินค้าไปยังสาขา เพื่อลดต้นทุนของทั้ง 2 ฝ่าย

นอกจากนี้ภายในระยะเวลา  3 ปียังมีแผนที่จะนำบริษัทในเครือคือ บริษัท แกรนด์โฮม โซลูชั่น ซึ่งดำเนินธุรกิจต่อเติมอาคารที่อยู่อาศัย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

 

อย่างไรก็ตามในปีนี้คาดว่าแกรนด์โฮมจะมีรายได้รวมประมาณ 4,500 ล้านบาท จาก 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจขายโครงการ (Project) สัดส่วน 70%ธุรกิจขายปลีก (Retail) สัดส่วน 30% และในปี 2562 แกรนด์โฮมตั้งเป้าหมายที่จะปรับสัดส่วนรายได้เป็น 60 : 40 และจะมีการบริการและธุรกิจใหม่มาเติมเต็มให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย คาดว่ายอดขายจะเพิ่มเป็น 5,200 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณ 15%

 

 

นางสาวนภานันทน์ แม้นชูวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานขายโครงการ บริษัท แกรนด์โฮมมาร์ท จำกัด กล่าวเสริมถึงการบุกธุรกิจงานขายโครงการในปี 2562ว่า ปัจจุบันลูกค้าหลักของของแกรนด์โฮมคื อผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สัดส่วน 70% แต่นับจากนี้ แกรนด์โฮมมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าไปสู่ทุกระดับ รวมไปถึงผู้ออกแบบ และผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าและโรงแรมด้วย โดยมีการพัฒนาทีมขายขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ออกแบบ นอกจากนี้ แกรนด์โฮมจะมุ่งสรรหาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันของโครงการแต่ละแห่ง อาทิ โครงการบ้านพักอาศัยที่เน้นกลุ่มผู้สูงอายุ โครงการบ้านพักอาศัยแบบ Smart Home และโครงการ Co Working Space เป็นต้น รวมทั้งจะมีการนำเสนอสินค้า House Brand เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าโครงการด้วย

 

ด้าน นายพีระพล ทยานุวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานผลิตภัณฑ์และการตลาด บริษัท แกรนด์โฮมมาร์ท จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯมีแผนจะสร้างแกรนด์โฮมให้เป็นมืออาชีพ (Professional) ที่นำเสนอสินค้าที่ตรงเฉพาะกลุ่ม ผ่านโชว์รูม 3 รูปแบบ โดยโชว์รูมประเภท Concept ที่งามวงศ์วาน รองรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้ออกแบบ ด้วยรูปแบบการจัดเรียงสินค้าที่เอื้อต่อการสร้างไอเดียและแรงบันดาลใจ สำหรับโชว์รูมประเภท Variety ที่บางนา รัตนาธิเบศร์ และรามอินทรานั้น เน้นความหลากหลายของสินค้าไม่ว่าจะเป็นกระเบื้อง ห้องน้ำ ห้องครัว ไลท์ติ้ง พร็อพตกแต่ง และดีไอวาย ส่วนโชว์รูมประเภท Outlet ที่บางบัวทอง ศรีนครินทร์ และกระทิงลาย (ชลบุรี) เน้นสินค้าที่คุ้มค่า คุ้มราคาสำหรับลูกค้ากลุ่มช่าง ผู้รับเหมารายย่อย หรือเจ้าของบ้าน

 

ส่วนกิจกรรมทางการตลาดที่จะดำเนินการในปี 2562 นั้น แกรนด์โฮมจะเข้าสู่การเป็นดิจิทัลรีเทล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซที่จะเพิ่มความสะดวกสบายในการซื้อสินค้า และจะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมการขายและสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับลูกค้าผ่านช่องทางการสื่อสารทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น