การรถไฟแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าพนักงานบังคับคดี ทวงพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำจากผู้บุกรุก เตรียมเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อดำเนินการเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาลงทุนโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูสบนเนื้อที่ 260 ไร่

 

วันนี้ (27 พ.ย. 2561) ณ สถานีรถไฟแม่น้ำ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ นายสมยุทธิ์ เรือนงาม รองผู้อํานวยการด้านปฏิบัติการ ฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ในฐานะประธานคณะทํางานเฉพาะกิจเพื่อดําเนินการกับผู้บุกรุกหรือรุกล้ำที่ดินการรถไฟฯ พร้อมกับเจ้าพนักงานบังคับคดี ลงพื้นที่ปิดประกาศขับไล่รื้อถอนตามคำสั่งศาลที่การรถไฟฯ ยื่นฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกย่านสถานีแม่น้ำ จำนวนกว่า 200 ราย ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ที่บุกรุกพื้นที่โดยไม่มีสัญญาเช่า 38 ราย กลุ่มบริษัทรายใหญ่มีสัญญาเช่า 19 ราย ซึ่งทยอยหมดอายุสัญญาเช่าในปี 2562 และกลุ่มผู้บุกรุกที่เป็นชาวบ้านรายย่อยอีกกว่า 150 ราย ซึ่งดำเนินการตามนโยบายคณะกรรมการรถไฟฯ ในการแก้ปัญหาการบุกรุกหรือรุกล้ำที่ดินของการรถไฟฯ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ พื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำของการรถไฟฯ มีเนื้อที่ทั้งหมด 260 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา

 

ทั้งนี้ พบผู้บุกรุกรุกล้ำพื้นที่ประมาณ 86 ไร่ 35 ตารางวา หรือคิดเป็น 137,740 ตารางเมตร เท่ากับร้อยละ 33 ของที่ดินทั้งแปลง ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้มีแผนพัฒนาโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2552 ที่เริ่มการศึกษาพัฒนาพื้นที่โดยว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดำเนินการสำรวจศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นพร้อมจัดทำเอกสารสำหรับใช้ในการขออนุมัติและหาผู้ลงทุนในโครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 พื้นที่เดิมใช้เป็นย่านคลังสินค้า คลังนํ้ามัน และการขนส่งสินค้าต่อเนื่องทางนํ้าเชื่อมต่อทางรถไฟและทางถนนสายที่เรียกว่า “ถนนเชื้อเพลิง” ผ่านถนนพระราม 4 ออกไปเชื่อมกับเส้นทางรถไฟสายตะวันออกที่มักกะสัน

 

สำหรับการศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการที่ดินดังกล่าวมี 6 รูปแบบ ประกอบด้วย คือ อาคารพาณิชยกรรมและค้าปลีก อาคารพักอาศัย สำนักงาน ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติ และโรงแรม พร้อมกับแบ่งออกเป็น 5 โซนการพัฒนา ดังนี้

 

โซนที่ 1 Gateway Commercial Park จำนวน 77 ไร่ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงด้วยระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรม ที่พักอาศัยและบริการประเภทของอาคารประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า (Lifestyle Mall) สำนักงาน

 

โซนที่ 2 Iconic Marina พื้นที่ จำนวน 44 ไร่ เหมาะสำหรับก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่ สำนักงาน ศูนย์ประชุมสัมมนาที่พักอาศัย ศูนย์การค้า พาณิชยกรรม การแสดงสินค้า ธุรกิจการค้า ที่ทำการขององค์กรการค้าเอกชนศูนย์ข้อมูลธุรกิจ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และ ท่าเทียบเรือสำราญขนาดกลาง

 

โซนที่ 3 Cultural Promenade พื้นที่รวม 78 ไร่ เหมาะสำหรับพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมค้าปลีก และศูนย์กิจกรรมทั้งด้านบันเทิง ด้านการสร้างสรรค์ ร้านอาหารภัตตาคาร สปา คลับ และอาคารใช้งานแบบผสมผสาน (Mixed Use Tower)

 

โซนที่ 4 Riverfront Residence พื้นที่รวม 55 ไร่ เหมาะสำหรับก่อสร้างกลุ่มคอนโดมิเนียมหรือกลุ่มอาคารที่พักอาศัย สามารถเชื่อมต่อกับการใช้งานในพื้นที่อื่นของพื้นที่โครงการส่วนอื่นได้อย่างสะดวก

 

โซนที่ 5 Affordable Community พื้นที่รวม 22 ไร่ อยู่บริเวณริมคลองด้านทิศเหนือเหมาะสำหรับพัฒนารองรับธุรกิจการค้าระดับชุมชน สินค้าหัตถกรรม ร้านอาหารตามแนวริมคลองขุด

 

ภายหลังจากคณะกรรมการรถไฟฯ ให้ปรับปรุงข้อมูลเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการร่วมทุนในกิจการของรัฐแล้ว การรถไฟฯ เสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อดำเนินการเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาในระยะยาวต่อไป

อนึ่ง : จากการศึกษาพัฒนาพื้นที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ระบุพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำตั้งอยู่บริเวณคุ้งน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา  ใกล้กับท่าเรือคลองเตย  ตรงข้ามกับบางกระเจ้าซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว นับเป็นปอดขนาดใหญ่ของคนกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ   นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้กับศูนย์กลางธุรกิจ (CBD), ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์   และไม่ไกลจากสนามบินสุวรรณภูมินัก

 

ขณะที่เส้นทางการคมนาคมที่เชื่อมโยงกับพื้นที่โดยรอบนั้น   สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ 3 เส้นทางโดยผ่านทางถนนเชื้อเพลิง, ถนนพระราม 3  และซอยวัดช่องลม   นอกจากนี้ยังมีถนนเลียบทางรถไฟเดิม, รถเมล์ BRT  และยังใกล้กับระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าสายเฉลิมมหานคร (สายสีน้ำเงิน) บางซื่อ-หัวลำโพง  สถานีคลองเตย ซึ่งเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน  โดยมีลักษณะการเดินรถเป็นวงแหวน  ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS)  และโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาในอนาคต  อาทิ  รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง), รถไฟชานเมืองสายสีแดง (แนวเหนือ-ใต้), รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี)  และรถไฟฟ้า สายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ-พระราม 9) ของกทม. ซึ่งในเฟส 2 ของโครงการจะมีแนวเส้นทางวิ่งมายังถนนพระราม 3 ใกล้กับพื้นที่ดังกล่าวมาก  ทำให้การเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้  ยังมีเส้นทางเชื่อมออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านท่าเรือโดยรอบพื้นที่  ต่อเนื่องไปยังย่านศูนย์การค้าชั้นนำใกล้เคียง  ไม่ว่าจะเป็น เอเชียทีค, ไอคอนสยาม, ยอดพิมาณ ที่สำคัญ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรุงเทพมหานคร กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาจัดทำโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา  ทำให้พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยามีการสัญจรเชื่อมโยงถึงกัน

 

ปัจจุบัน สภาพพื้นที่บางส่วนเป็นที่พักอาศัยของพนักงานการรถไฟฯ, มีอาคารโรงงานปูนซิเมนต์เดิมแต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว, มีอู่ต่อเรือ  และเป็นสถานีสูบน้ำคลองขุด-วัดช่องลม  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพฯด้วย

 

ด้านข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 เป็นพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่พาณิชยกรรม (พ.3-36) สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้หลากหลาย   ทั้งเพื่อการพาณิชยกรรม การอยู่อาศัย สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ   โดยมี FAR = 7 : 1  แต่มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลงอาคาร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง  โดยห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารในระยะ 45 เมตร จากแม่น้ำเจ้าพระยา

 

สำหรับผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่เดิมที่ได้ศึกษาไว้นั้น    ได้มีการจัดแบ่งพื้นที่ก่อสร้างในแต่ละโซนไว้ดังนี้

โซน 1 : Meanam Gateway  กลุ่มอาคารที่พักพร้อมศูนย์การค้า (CONDOMINIUMS&ANCHOR SHOPPING CENTER)

ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้ทางเข้าออกหลักของพื้นที่  ทำให้เหมาะที่จะเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรม ที่พักอาศัยและบริการ   กิจกรรมภายในประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน และอาคารพักอาศัยรวม จัดให้มีการปลูกต้นไม้ให้เป็นพื้นที่ที่มีร่มเงาเพื่อการพักผ่อนโดยรอบ มีลานกิจกรรมบริเวณสวนหย่อม เชื่อมต่อโดยรอบบึงปลายคลองขุดได้อีกด้วย

โซน 2 : Meanam Landmark  กลุ่มอาคาร LANDMARK  มีความโดดเด่นเป็นพิเศษจากอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ กำหนดเป็นการใช้งานแบบผสมผสาน

อาคารที่ 1 ซึ่งจะเป็น Landmark ของโครงการกรุงเทพมหานคร  อาคาร Mixed Use Tower 1 & Convention, Tourist & Exhibition ที่ประกอบด้วย โรงแรมระดับ 6 ดาว บนอาคารสูง พื้นที่สำนักงาน ศูนย์ประชุม-สัมมนา ที่พักอาศัย ศูนย์กลางพาณิชยกรรมและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว   ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็น ที่มาเยือนของนักท่องเที่ยว การแสดงสินค้า ธุรกิจการค้า ที่ทำการขององค์กรการค้าเอกชน ศูนย์ประชุมและให้ข้อมูลธุรกิจและอุตสาหกรรมของรัฐ และมีพื้นที่ลานกิจกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งมีท่าเรือข้ามฟากเชื่อมโยงไปยัง พื้นที่อนุรักษ์สีเขียวบางกระเจ้า

 

โซน 3 : Meanam Grand Experience  กลุ่มพาณิชย์กรรมค้าปลีกและศูนย์กิจกรรมเชิงประสบการณ์ (MIXED USE TOWER 2 & WATERFRONT COMMERCIAL )

ประกอบด้วย  อาคารสูง ร้านค้า ริมทางเดินติดชายหาดเทียม และสระว่ายน้ำ อยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมค้าปลีกและศูนย์กิจกรรมทั้งด้านบันเทิง ด้านการสร้างสรรค์ ร้านอาหารภัตตาคาร สปาคลับ ธุรกิจทางด้านการดูแลรักษาสุขภาพแบบครบวงจร ศูนย์สุขภาพ (Health Mart) และอาคารใช้งานแบบผสมผสาน (Mixed Use Tower) มีห้องอาหารชั้นลอยฟ้าสำหรับผู้มาใช้บริการ และนักท่องเที่ยวทั่วไป รวมทั้งที่พักอาศัย มีทางเดินริมชายหาดเทียมริมสระว่ายน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย (Promenade & Long Beach Swimming Pool) อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยาว 550 เมตร

 

โซน 4 : Meanam Green Neighbor   กลุ่มอาคารสำหรับพักอาศัยชั้นดี (RESIDENTIALS)

ประกอบด้วย กลุ่มคอนโดมิเนียม หรือ กลุ่มอาคารพักอาศัยที่อยู่ใกล้คลองขุดและเชื่อมโยงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 6 แปลงย่อย ใกล้แหล่งพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมสีเขียวของกรุงเทพฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมบริการโดยรอบ

 

โซน 5 : Meanam Canal Community  กลุ่มพื้นที่สำหรับการค้าชุมชนและย่านการค้าบริการสังสรรค์ริมคลอง (COMMUNITY MARKET & CANAL RETAIL SHOP)

อยู่บริเวณริมคลองขุดด้านทิศตะวันตก เป็นย่านที่จัดเป็นธุรกิจการค้าระดับชุมนุม สินค้าหัตถกรรม สิ่งประดิษฐ์ ของขวัญของที่ระลึก ร้านอาหารตามแนวริมคลอง การล่องเรือ เรือนแพ การแสดงบนแพ ฯลฯ