รมว. คลังเผยสภากำลังพิจารณาแก้ไขกฎหมาย เปิดกว้างให้ BAM ซื้อหนี้เสียจาก Non Bank เพิ่มอีกทางเลือกหนึ่ง พร้อมให้คงสิทธิประโยชน์โดยรวมต่อไป ทั้งหนุนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มโอกาสช่วยแก้หนี้ในประเทศเพื่อนบ้าน

 

 

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย รัฐบาลเห็นความสำคัญของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ที่จะมีบทบาทต่อประเทศในอนาคต โดยขณะนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ ในการแก้ไขกฎหมาย ที่จะเปิดกว้างให้ BAM สามารถซื้อหนี้เสียจาก Non Bank ได้ (ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) จากเดิมที่รับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินเท่านั้น ขณะที่สิทธิประโยชน์ต่างๆ นั้น ทางกระทรวงการคลังยืนยันควรคงสิทธิที่มีอยู่ต่อไป เพราะมองกลับมาแล้ว เรื่องดังกล่าวคือต้นทุนของประเทศ  หากมีการเก็บภาษีกับองค์กรนี้ สุดท้ายแล้วต้นทุนดังกล่าวจะถูกผลักภาระไปสู่ประเทศ

 

ทั้งนี้ BAM มีจุดเด่นในเรื่องการซื้อหนี้เสียและบริหารหนี้ และน่าจะเป็นเรื่องดี กับแผนการนำองค์กรเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการเข้าสู่ตลาดทุนแทนที่จะใช้หนี้ขยายธุรกิจเพียงอย่างเดียว โดยขณะนี้มีสถาบันต่างประเทศสนใจใน BAM เป็นจำนวนมาก ซึ่งในอนาคต บทบาทจะไม่ได้อยู่เพียงในประเทศเท่านั้น  แต่จะเพิ่มโอกาสในการเข้าไปช่วยแก้หนี้ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

 

ด้านนางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวในงานเลี้ยงฉลองก้าวสู่ปีที่ 20 ของ BAM ว่า  บริษัทฯ เป็นหนึ่งในองค์กรของรัฐบาล ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงิน โดยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา  BAM ได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศ สามารถรับชำระจากการปรับโครงสร้างหนี้ และจำหน่ายทรัพย์ จำนวน 215,989 ล้านบาท และสามารถปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้าจนได้ข้อยุติถึงจำนวน 111,583 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 217,470 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสามารถคืนเงินให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ( FIDF) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 75,000 ล้านบาท

 

“BAM ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 20 ปี และปีนี้ เราเห็นเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเติบโต ซึ่ง BAM จะต้องเติบโตในทิศทางที่ดี ซึ่ง ได้แก่ ดีต่อประเทศ ในการรับซื้อหนี้เสียและทรัพย์สินรอขาย มาจากสถาบันการเงินและบริหารเพื่อนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในราคายุติธรรม และแม้จะอยู่ภายใต้การดูแลของ FIDF และธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ BAM ต้องอยู่ในสถานะที่สามารถแข่งขันได้ และทำกำไรได้ ซึ่งเราต้องมีกำไร แต่ไม่ใช่กำไรสูงสุด ขณะที่การประมูลหนี้และทรัพย์มา เราก็ยังดูแลลูกค้าที่อยู่กับเราตลอด รวมถึงการดูแลสังคม บริจาคอุปกรณ์ให้กับสถานที่ต่างๆ เช่น มอบทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนต่างๆ เป็นต้น” นางทองอุไร กล่าวในที่สุด