สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ….ด้วยมติเอกฉันท์ 169 เสียง มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 63  กำหนดเก็บภาษี 4 ประเภท  ด้านรมช. คลังเผยกฎหมายดังกล่าว ช่วยอุดช่องโหว่ กระตุ้นการใช้ประโยชน์ที่ดิน เอื้อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บรายได้

 

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561  ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานในการประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว  ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ต่อเนื่องจากวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ผ่านมา โดยในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ด้วยคะแนนเสียง 169 เสียง ต่อ 0 งดออกเสียง 2 ให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป

 

สำหรับร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การให้ร่างพระราชบัญญัติ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่การจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2563 เป็นต้น ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการยังได้บัญญัติบทเฉพาะกาล มาตรา 90 ขึ้นมาใหม่ เป็นการกำหนดให้ในสองปีแรก ของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลของฐานภาษีตามที่ มาตรา 90 บัญญัติไว้

กฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หากมีมูลค่า 0-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.01 %  มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03 % มูลค่า 100-500 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05 %

 

 2. ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.02 % มูลค่า 50-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03 % มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05 % มูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1 % ทั้งนี้ในกรณีบ้านหลังหลัก หากเป็นเจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดิน ให้ได้รับการยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก  ส่วนกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะบ้านอย่างเดียว ได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาท

 

3. ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.3 % มูลค่า 50-200 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.4 % มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.5 % มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.6 % มูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.7 %

 

 4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คิดอัตราภาษีเริ่มต้น 0.3 % และเพิ่มขึ้น 0.3 % ทุก 3 ปี หากยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ แต่รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 3

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกเว้นอัตราการจัดเก็บภาษีและสิ่งปลูกสร้างที่ให้เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 ทั้งนี้ยังมีบทเฉพาะกาลว่า ใน 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายฉบับนี้ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีแก่เจ้าของที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่เป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรม

 

โดยร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ประชุมสนช. รับหลักการในวาระ 1 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 1 ชุด ซึ่งระหว่างนั้นได้ขอขยายระยะเวลาการพิจารณา จำนวน 9 ครั้ง โดยล่าสุด คือเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 จากนั้นร่างพ.ร.บ. ได้กลับเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่สนช. อีกครั้ง ในวาระ 2 และวาระ 3 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ดังนั้น ร่างพ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี 7 เดือน 16 วัน

 

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กล่าวว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปโครงสร้างภาษี อุดช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมายเดิม กระตุ้นการใช้ประโยชน์ที่ดิน และเป็นประโยชน์แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเก็บรายได้


** อ่านรายละเอียดเพิ่มได้ที่ >> ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. (ฉบับที่ สนช. เห็นชอบ)