เสนาฯเผยพันธมิตรญี่ปุ่นไม่กังวลปัจจัยลบเมืองไทย พร้อมลุยปี62ผุด 11 โครงการร่วมทุน มูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท ทั้งสนผุดมิกซ์ยูสหวังสร้างรายได้ระยะยาว และลงทุนพัฒนาเองอีก 10 โครงการ  ทำสถิติเปิดตัวมากสุดในประวัติการณ์ มั่นใจยอดขายตามเป้า 10,300 ล้านบาท รายได้โต 20% ด้านฮันคิวฯเดินหน้าลงทุนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปีละ 6,000 ล้านบาท ปักหมุดไทยเป็นศูนย์กลาง อนาคตสนธุรกิจรองรับผู้สูงอายุ

นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ SENA เปิดเผยว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการควบคุมธนาคารพาณิชย์ห้ามปล่อยกู้เกินมูลค่าหลักประกัน (LTV) เกินอัตราที่กำหนด น่าจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในส่วนของบริษัทมีสัดส่วนบ้านระดับราคา 10 ล้านบาท ประมาณ 2-3%   ซึ่งในส่วนของพันธมิตรญี่ปุ่นคือบริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ปเปอร์เรชั่น จำกัด ก็ยังไม่มีความกังวลในเรื่องดังกล่าวมาก เนื่องจากที่ผ่านมาทางเสนาฯมีการรายงานสถานการณ์ต่างๆในประเทศไทยมาโดยตลอด  ทำให้กลุ่มฮันคิวฯมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ

 

ส่งผลให้แผนการร่วมทุนกับกลุ่มฮันคิวฯในปี2562 มีมากเพิ่มขึ้นเป็น 11 โครงการ รวมมูลค่าประมาณกว่า 35,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการพัฒนาโครงการคอนโดฯในกทม.และปริมณฑล ขณะนี้มีที่ดินรองรับแล้วประมาณ 5 แปลง และบางส่วนอยู่ระหว่างเจรจาซื้อขาย ซึ่งอาจจะมีโครงการมิกซ์ยูสด้วย เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดี  ซึ่งผลจากการพัฒนาคอนโดฯร่วมกันมาสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี ดังนั้นกลุ่มฮันคิวฯจึงมีแผนที่จะขยายธุรกิจที่สร้างรายได้ระยะยาวเพิ่มมากขึ้น  โดยให้ความสนใจทั้งในรูปแบบของอาคารสำนักงาน โรงแรม และรีเทล ซึ่งกลุ่มฮันคิวฯมีความชำนาญอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องศึกษาซัพพลายและดีมานด์ก่อน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในปี 2562

 

ขณะที่โครงการที่บริษัทพัฒนาเองจะมีอีกประมาณ 10 โครงการ ซึ่งจะทำให้ปี 2562 บริษัทเปิดโครงการใหม่มากสุดเป็นประวัติการณ์ โดยบริษัทจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อสรุปงบประมาณแผนธุรกิจปี 2562 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561  โดยคาดว่าการใช้งบประมาณซื้อที่ดินปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6,000-9,000 ล้านบาท

 

โดยในปี2561 นี้ได้พัฒนาโครงการร่วมกันแล้ว 7 โครงการ มูลค่ารวม 23,000 ล้านบาท  ประกอบด้วย 1.โครงการนิช โมโน สุขุมวิท – แบริ่ง (Niche MONO Sukhumvit – Bearing),  2.โครงการ นิช โมโน เตาปูน-อินเตอร์เชนจ์  (Niche Pride Taopoon-Interchange),  3.โครงการ ปีติ เอกมัย (PITI EKKAMAI),  4.โครงการ นิช โมโน เจริญนคร (NICHE MONO CHAROEN NAKORN) 5.โครงการ นิช โมโน เมกะ สเปซ บางนา (Niche MONO Mega Space Bangna),  6. โครงการ นิช โมโน รามคำแหง (Niche Mono Ramkhamhaeng) และ 7.โครงการ ปีติ บางจาก (PITI Bang Chak)

 

นอกจากนี้ในปี 2562 บริษัทฯยังมีแผนที่จะรุกธุรกิจบริการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้น  เพื่อเป็นผู้ให้บริการติดตั้งให้กับผู้ประกอบการเอกชนที่สนใจ (Private PPA) อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามนโยบายและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เกี่ยวกับโซลาร์รูฟเสรีให้มีความชัดเจน ซึ่งมองว่าจะทำให้ตลาดรายย่อย (retail) มีความน่าสนใจมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตามในปี 2561 บริษัทฯคาดว่ายอดขายจะเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้จำนวน 10,300 ล้านบาท และรายได้เติบโต 20% จากปี 2560 ที่มีรายได้ 5,200 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการเปิดตัวโครงใหม่รวม 17 โครงการ มูลค่า 23,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกเปิดแล้ว 5 โครงการ มูลค่า 6,520 ล้านบาท ส่วนโครงการร่วมทุนกับฮันคิวทั้ง 7 โครงการ ปัจจุบันมียอดจองที่ 50-80% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ประมาณ 10,000 ล้านบาท เริ่มทยอยรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ จนถึงปี 2564 โดย Backlog ส่วนใหญ่จะรับรู้รายได้ในสัดส่วนมากที่สุดในปี 2563 ทำให้คาดว่าผลประกอบการปี 2563 จะมีการเติบโตอย่างมาก

 

ปัจจุบันบริษัทฯมีสัดส่วนรายได้ประจำ (recurring income) จากการลงทุนในคอมมูนิตี้ มอลล์, อาคารสำนักงาน และสนามกอล์ฟ อยู่ประมาณ 8-9% ส่วนรายได้อีก 92% ที่เป็นรายได้หลัก ยังมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยเพื่อขาย จากโครงการบ้านและคอนโดมิเนียม ซึ่งแบ่งเป็นโครงการที่พัฒนาร่วมกับกลุ่มฮันคิวฯ 60% และจากโครงการที่บริษัทพัฒนาเอง 20%

 

ด้านนายวาคาบายาชิ ซึเนะโอะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ปเปอร์เรชั่น จำกัด กล่าว่า ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ เป็น 1 ใน 6 ของธุรกิจในเครือบริษัท ฮันคิว ฮันชิน โฮลดิ้ง กรุ๊ป ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2450  โดยบริษัทในเครือที่ใหญ่ที่สุด คือ 1.ธุรกิจการคมนาคมระหว่างเมือง ที่ประกอบด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมต่อระหว่าง 3 เมืองหลักในพื้นที่เขตคันไซ คือ เมืองโอซากา เมืองโกเบ และเมืองเกียวโตพร้อมสามารถเชื่อมต่อการเดินทางแถบชานเมืองด้วยรถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ทำรายได้เป็นลำดับที่ 2

 

3.ธุรกิจความบันเทิงแบบครบวงจร Entertainment Complex 4.ธุรกิจการคมนาคมระหว่างประเทศInternational Transportationหรือการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางเรือผ่านกว่า 100 เส้นทางใน 27 ประเทศทั่วโลก 5.ธุรกิจโรงแรม ภายใต้การดูแล 48 แห่ง รวมมากกว่า 10,693 ห้องพัก และ6.ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ สามารถรองรับการท่องเที่ยวแบบกลุ่ม และการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ

 

 

สำหรับผลประกอบการล่าสุด ณ สิ้นมีนาคม 2018 พบว่า บริษัท ฮันคิว ฮันชิน โฮลดิ้งส์ กรุ๊ปมีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจคมนาคมระหว่างเมือง คิดเป็น 29.2% ถัดมาคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์27.6% ตามมาด้วยธุรกิจความบันเทิงแบบครบวงจร15% ธุรกิจการคมนาคมระหว่างประเทศ10.6% ธุรกิจโรงแรม 2.0% และธุรกิจท่องเที่ยว 4.2%

 

นอกจากการดำเนินธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ปีที่ผ่านมาฮันคิว ฮันชิน โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป เริ่มมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยเนื่องจากมองว่ายังเป็นกลุ่มประเทศที่รายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) โตต่อเนื่องและมีศักยภาพในการเติบโตสูง จึงเริ่มเข้ามาลงทุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เริ่มด้วยธุรกิจคลังสินค้าที่ประเทศสิงคโปร์ ถัดมาเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และขนส่งที่ประเทศอินโดนีเซีย  ตามมาด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเวียดนาม ประเทศไทย ประเทศมาเลเซียและประเทศฟิลิปปินส์ตามลำดับ รวมมูลค่าการลงทุนปีละ 6,000 ล้านบาท ซึ่งราว 25% ของการลงทุนในภูมิภาคนี้อยู่ที่ประเทศไทย เนื่องจากได้รับผลตอบแทนสูงที่สุด และเห็นตัวเลขรายได้ชัดเจนที่สุด

 

สำหรับการร่วมทุนในครั้งนี้ มาจากการที่กลุ่มฮันคิว มองเห็นศักยภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและศักยภาพของเสนาฯ ที่มีความโดดเด่นและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างลงตัวที่สุด นอกจากความร่วมมือข้างต้นแล้ว เสนา ฮันคิว ยังมีแผนพัฒนาโครงการต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่ารวม 23,000 ล้านบาท ซึ่งการร่วมทุนครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ฯบวกกับความมั่นใจในเศรษฐกิจไทย ทำให้เตรียมลงทุนเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท สะท้อนจากข้อมูลภาครัฐที่ระบุว่าในปี พ.ศ. 2574 หรืออีก 13 ปีข้างหน้าประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นสูงสุด นั่นหมายถึงความต้องการในอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีอีกมาก ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังคงเนื้อหอมสำหรับการร่วมทุนในครั้งนี้

 

“ปัจจุบันญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น ส่งผลให้เราขยายการลงทุนมายังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลไทยก็มีการสนับสนุนเป็นอย่างดี ซึ่งในอนาคตอาจจจะมีการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับผู้สูงอายุ ซึ่งก็คงต้องมีการปรึกษาหารือกับทางเสนาฯอีกครั้งหนึ่ง”นายวาคาบายาชิ  กล่าวในที่สุด