กระทรวงคมนาคม โชว์ผลงาน 4 ปี เดินหน้า 21 โครงการรวมมูลค่า 1 ล้านล้านบาทจากทั้งหมด 44 โครงการรวมมูลค่าลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท  “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ”เผยการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานช่วยดันจีดีพีในประเทศโต พร้อมเร่งเครื่องเข็นเมกะโปรเจ็คท์ที่เหลือ 10 % เข้าประมูลให้หมดในปีนี้

 

วันนี้ (13 กรกฎาคม 2561) กระทรวงคมนาคมได้จัดนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย  ระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565  ครั้งที่ 1 ภายใต้ชื่อ “One Transport for All 2018 : On the Move” โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “คมนาคม 4 ปี+อนาคต คนไทยได้อะไร?” ว่าการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น ได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อระบบการดินทางทั้ง ทางบก น้ำ อากาศและระบบราง โดยตามแผนการลงทุนหรือ Action Plan ระยะ 8 ปี (ปีพ.ศ.2558-2565) นั้นมีทั้งหมด 44 โครงการคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ได้ดำเนินการแล้ว ไปแล้ว 21 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 1 ล้านล้านบาท

 

“4 ปีการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของกระทรางคมนาคมนั้นมีบทบาทในการช่วยกระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของประเทศได้มาก น่าจะคิดเป็นสัดส่วน 30% ของจีดีพีในช่วงไตรมาส 1/ 2561 ที่จีดีพีของประเทศเติบโต 4.8% นอกจากนั้นมาจากการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ” นายอาคมกล่าว

 

ทั้งนี้ โครงการที่อยู่ใน Action Plan ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่ วงเงิน 2.76 แสนล้านบาท รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-หัวหิน วงเงิน 7.79 หมื่นล้านบาท รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.03 แสนล้านบาท

เร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทางที่เหลือเข้าครม.

โดยโครงการรถไฟทางคู่ 12 เส้นทาง เหลือโครงการที่จะประมูลในปีนี้รวม 9 เส้นทาง ประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 8.53 หมื่นล้านบาท จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นโครงการแรก ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะทยอยนำเข้าที่ประชุมครม.ในอีก 8 เส้นทางที่เหลือ ประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 5.93 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 3.66 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 2.58 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 2.30 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา วงเงิน 5.93 หมื่นล้านบาทรถไฟทางคู่ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 7.86 พันล้านบาท รถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 5.79 หมื่นล้านบาท 57,992.44 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม รวมระยะทาง 355 กม. มูลค่าโครงการ 54,684.40 ล้านบาท

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและรถไฟชานเมือง หรือโครงการรถไฟฟ้ารวมเส้นทางที่เปิดบริการอยู่ในปัจจุบันด้วยรวมทั้งหมด 10 สาย ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงม.ธรรมศาสตร์รังสิต-มหาชัย รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงศาลายา-หัวหมาก แอร์พอร์ตลิ้งก์ ช่วงสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงลำลูกกา-บางปู รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ช่วงยศเส-บางหว้า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4 รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

 

เข็นเมกะโปรเจ็คท์เข้าที่เหลือ 10 %เข้าประมูลปีนี้

 “กระทรวงพยายามที่จะเร่งประมูลโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้ได้ทั้งหมดภายในปีนี้  ซึ่งประเมินว่ามีโครงการที่เหลือที่รอเข้าประมูลอยู่ราว 10%”

 

ส่วนความคิบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆนั้น ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการ ดังนี้  รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้และสายสีส้มตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและสายสีส้มตลอดสาย รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2561 นี้ ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง กรมทางหลวงได้ส่งมอบพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเหลือขั้นตอนการดำเนินการส่งมอบพื้นที่ของทางกรุงเทพมหานคร(กทม.)ให้กับทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

 

นายอาคม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ใน Action Plan  ยังประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษและทางพิเศษ ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 7.78 หมื่นล้านบาท, มอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-ชายแดนไทยมาเลเซีย วงเงิน 3.40 หมื่นล้านบาท, มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงิน 8.46 หมื่นล้านบาท, มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 4.91 หมื่นล้านบาท ,มอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 2.02 หมื่นล้านบาท, ศูนย์การขนส่งชายแดน สถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค จุดจอดพักรถบรรทุก

 

นอกจากนี้ยังรวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาคใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา และขอนแก่น การพัฒนาขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่ 115 คัน การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟ และการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ และพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ (สมาร์ทซิตี้) คืบหน้าด้านการก่อสร้างแล้ว 60% พร้อมเปิดให้บริการในปี 2563  รวมถึงโครงการจัดซื้อรถไฟฟ้า (อีวี) 35 คัน วงเงิน 4.17 แสนล้านบาท โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) จำนวน 489 คัน และการพัฒนาระบบตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และการพัฒนาธุรกิจท่าเรือบก จ.ขอนแก่น

 

พร้อมกันนี้ นายอาคมยังกล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ที่ได้ปิดการซื้อซองเอกสารไปแล้วและมีเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ 31 รายซื้อซองเอกสารไปนั้นเอกชนจะมีเวลาพิจารณาและศึกษาทีโออาร์ประมาณ 4 เดือน ก่อนจะเปิดประมูลในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 โดยคาดว่าจะได้รายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกในช่วงสิ้นปีนี้