เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน)หรือSIRI ได้ร่วมมือกับ บริษัท โตคิว คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและให้บริการระบบรถไฟในเขตชานเมืองโตเกียว การพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกิจการโรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจอื่นๆ และบริษัท สหโตคิว คอร์ปอเรชัน จำกัด ร่วมกันก่อตั้งบริษัท สิริ ทีเค วัน (Siri TK One Company Limited)ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท  โดย กลุ่มแสนสิริถือหุ้น 70% กลุ่มโตคิวฯ ถือหุ้นสัดส่วน 29% และกลุ่มสหโตคิว ถือหุ้นสัดส่วน 1% เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม นำร่องเปิดตัวโครงการแรกภายใต้แบรนด์ “taka HAUS” (ทากะ เฮาส์)ในทำเลเอกมัย 12 บนพื้นที่ 4 ไร่ เป็นคอนโดฯโลว์ไรส์ สูง 8 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ขนาด 30-71.50 ตารางเมตร จำนวน 269 ยูนิต  มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยเปิดขายครั้งแรกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2560 และเปิดขายพร้อมกันทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ในราคา 4 ล้านบาทขึ้นไป/ยูนิต หรือ 160,000 บาท/ตารางเมตร ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 95%

 

 

ตั้ง2บริษัทใหม่ผุด2โครงการร่วมทุน
โดยนายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือSIRI
เปิดเผยว่า จากความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้ในปี2561 นี้ ทั้ง 2 กลุ่ม มีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ร่วมกันอีก 2 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท โดยได้ร่วมกันจัดตั้ง 2 บริษัทร่วมทุนขึ้นมาคือ บริษัท แสนสิริ ทีเค ทรู จำกัด และบริษัท แสนสิริ ทีเค ทรี จำกัด แต่ละบริษัทมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยแสนสิริ ถือหุ้นสัดส่วน 70% และกลุ่มโตคิวถือหุ้นสัดส่วน 30% โดยโครงการแรก จะเป็นคอนโดมิเนียมแบบ Hi Rise ความสูง 38 ชั้น ตั้งอยู่บนทำเลเอกมัย บนพื้นที่ประมาณ 3ไร่ ราคาขายเริ่มต้นที่ประมาณ 150,000 บาท/ตารางเมตร จำนวน 500-600 ยูนิต มูลค่าโครการประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยจะเปิดพรีเซลในเดือนมิถุนายน2561 นี้

 

ส่วนอีกโครงการอยู่ที่สุขุมวิท 50 (อ่อนนุช) เป็นคอนโดฯLow Rise บนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ราคาขายเริ่มต้นที่ 100,000 บาทต้นๆ/ตารางเมตร จำนวนเกือบ 400 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 1,700 ล้านบาท โดยจะเปิดพรีเซลในเดือนกรกฎาคม นี้ และหลังจากนั้นจะนำทั้ง 2 โครงการไปเปิดขายที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าในช่วงแรกจะมียอดขาย ประมาณ 50%

 

“บริษัทเชื่อว่าการเปิดโครงการใหม่ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนลูกค้าชาวญี่ปุ่น เป็น10%ในปีนี้ จากปัจจุบันที่ 3-5% ของพอร์ตลูกค้าต่างชาติรวมที่ 24,000 ล้านบาท” นายอุทัย กล่าว


จ่อชวนโตคิวนำที่ดินศรีราชาร่วมทุน

นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับกลุ่มโตคิวฯว่าในอนาคตอาจจะนำคอนโดฯของแสนสิริ หลายโครงการที่มีศักยภาพนำมาทำตลาดเพื่อปล่อยเช่าสำหรับคนญี่ปุ่นได้ เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มโตคิวมีความชำนาญในการพัฒนาเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และมองว่าฐานลูกค้าญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่มีความสะอาดในการเช่าที่พักอาศัยระยะยาว จึงเชื่อมั่นว่าโตคิวฯมีศักยภาพที่จะดำเนินการได้ และหากเป็นไปได้ อาจจะเริ่มจากโครงการ “taka HAUS” (ทากะ เฮาส์)ในทำเลเอกมัย 12 ซึ่งเป็นโครงการแรกที่ร่วมทุนกับกลุ่มโตคิว ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมโอนได้ในปี2562 ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

 

อย่างไรก็ตามในอนาคตยังคงมีการร่วมทุนกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะมีการร่วมทุนปีละกี่โครงการ ซึ่งอาจจะนำที่ดินที่ศรีราชา ซึ่งซื้อมาเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ มาพัฒนาในรูปแบบของทาวน์เฮาส์ และคอนโดฯโลว์ไรส์ พัฒนาร่วมกับกลุ่มโตคิวฯ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลร่วมกัน

 

ทั้งนี้ในปี2561 บริษัทฯได้เปิดตัวโครงการใหม่ไปแล้ว 14 โครงการ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท จากเป้าทั้งปี 31 โครงการ มูลค่ารวม 63,200 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทยังเดินหน้าในการเข้าซื้อที่ดินแปลงใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ตั้งงบซื้อที่ดินประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยใช้ไปแล้วประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายโครงการใน1-2 ปี

 

บริษัทตั้งเป้ายอดขายทั้งปีไว้ที่ 45,000 ล้านบาท โดยไตรมาส2/2561 สามารถทำได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับเป้าที่ตั้งไว้ ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมียอดขายแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้บริษัทยังคงเป้าไว้ที่ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) เกือบ 50,000 ล้านบาท โดยทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง
และเร่งเปิดโครงการตามแผน

 


สนลงทุนพื้นที่โปรเจกต์ภาครัฐ

ด้านมร.โทชิยูคิ โฮชิโนะ กรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้จัดการบริหารอาวุโส /ผู้จัดการบริหารทั่วไป สำนักงานใหญ่ธุรกิจต่างประเทศ บริษัท โตคิว คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทกำลังมองหาโอกาสในการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:EEC) โดยพันธมิตรของบริษัททั้ง 2ราย คือ แสนสิริฯ และสหพัฒน์กรุ๊ป ต่างก็ศึกษาการลงทุนพัฒนาโครงการที่ทำเลดังกล่าวเช่นเดียวกัน

 

ส่วนโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมืองและอู่ตะเภา ผ่านการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) ซึ่งมีการพูดคุยบ้าง แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ใหญ่มาก เป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้พัฒนาเพียงรายเดียว และบริษัทยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเพียงพอที่จะลงทุน จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียด นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจโครงการพัฒนาบริเวณพื้นที่ย่าน “มักกะสัน” ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บนพื้นที่ประมาณ 745 ไร่ อีกด้วย แต่ขอรอข้อมูลเพิ่มเติมจากแสนสิริฯก่อน

 

สำหรับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศนั้น ที่ผ่านมาได้ลงทุนใน 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ไทย และเวียดนาม คิดเป็นเม็ดเงินในการลงทุนแล้ว 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และนับจากนี้ไปบริษัทได้ตั้งงบลงทุนในประเทศไทยและเวียดนาม ปีละประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ