ในขณะที่โคเวิร์คกิ้งสเปซ (co-working space) หรือที่เข้าใจได้ง่ายๆ คือ ‘บริการที่นั่งทำงานร่วม’ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โคลิฟวิ่งสเปซ (co-living space) เป็นธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่มีโอกาสขยายตัวในกรุงเทพฯ ในยุคเศรษฐกิจแบ่งปัน (shared economy) ตามการวิเคราะห์โดยบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล

นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล กล่าวให้ความเห็นว่า โคลิฟวิ่งสเปซ เป็นธุรกิจที่พักอาศัยให้เช่าที่กำลังเริ่มเติบโตในหัวเมืองใหญ่ทั่วโลกที่ที่พักอาศัยมีราคาหรือค่าเช่าแพง ซึ่งโดยทั่วไป โคลิฟวิ่งสเปซหมายถึงอาคารพักอาศัย (ในบางกรณีรวมถึงบ้าน) ที่มีบริการห้องพักขนาดเล็กให้เช่า พร้อมจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้เช่ารายต่างๆ ได้ใช้ร่วมกัน อาทิ ห้องดูทีวี ห้องออกกำลังกาย ห้องครัว พื้นที่รับประทานอาหาร ตลอดไปจนถึงห้องอ่านหนังสือหรือห้องสมุด นอกจากนี้ อาจมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้เช่าได้ทำร่วมกัน ทั้งนี้ ด้วยขนาดห้องพักที่ค่อนข้างเล็ก ผู้ประกอบการจึงมักสามารถตั้งราคาค่าเช่าได้ถูกกว่าอพาร์ทเม้นท์หรือคอนโดมิเนียมให้เช่าโดยทั่วไป

 

ในเอเชีย ธุรกิจโคลิฟวิ่งสเปซยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่กำลังเริ่มส่งสัญญาณการขยายตัว  จีนนับเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจประเภทนี้เป็นประเทศแรกในเอเชีย โดย ‘ยูพลัส อินเตอร์เนชั่นแนล ยูธ คอมมูนิตี’ เป็นหนึ่งในแบรนด์โคลิฟวิ่งสเปซรายแรกๆ ที่เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจประเภทนี้ในจีนปี 2555 ตามมาด้วยผู้ประกอบการรายอื่นๆ อีกหลายรายที่เกิดขึ้นในเมืองหลักๆ ของจีน ส่วนฮ่องกงซึ่งเป็นเมืองที่มีราคาที่อยู่อาศัยแพงที่สุดในโลก มีโครงการที่พักอาศัยให้เช่าในคอนเซ็ปต์ของโคลิฟวิ่งสเปซเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วเช่นกัน อาทิ โครงการ ‘แคมปัส ฮ่องกง’ ในย่านซวนว่าน และ ‘เอ็ม-ลิฟวิ่ง’ ในย่านหว่องจุ๊กฮั้ง  สิงคโปร์กำลังอยู่ในช่วงทดสอบตลาด โดยบริษัทแอสคอทท์ได้เปิดแบรนด์โคลิฟวิ่งสเปซขึ้นในชื่อ ‘แอลวายเอฟ’ ซึ่งจะบริหารโคลิฟวิ่งสเปซในโครงการมิกส์ยูส ‘ฟูนัน’ ที่กำลังพัฒนาโครงการโดยแคปปิตอลแลนด์ ส่วนที่ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย แบรนด์โคลิฟวิ่งระดับอินเตอร์ ‘โรม’ ได้เปิดบริการในย่านอากาซากะของกรุงโตเกียว และเมืองอูบุดบนเกาะบาหลี

 

สำหรับประเทศไทย มีผู้ประกอบการรายเล็กจำนวนไม่มากที่ให้บริการโคลิฟวิ่งสเปซในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ แต่ส่วนใหญ่เน้นจับตลาดชาวต่างชาติที่เป็น digital nomad หรือนักพเนจรแห่งยุคดิจิตอล (ใช้เรียกกลุ่มคนที่ทำงานได้ทุกที่ที่สามารถเชื่อมต่อเข้าอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้สามารถทำงานและท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเหล่านี้บางรายได้ให้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซเป็นหลัก และจัดให้มีโคลิฟวิ่งสเปซเป็นส่วนเสริม

 

สำหรับคนไทย โคลิฟวิ่งสเปซอาจยังไม่ใช่ที่ทางเลือกที่เป็นที่นิยม เนื่องจากยังมีที่พักอาศัยประเภทอื่นให้เลือกในราคา-ค่าเช่าที่ไม่แพงมากจนเกินไปและให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า ดังนั้น โคลิฟวิ่งสเปซจึงยังไม่ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญในภาคอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ อย่างไรก็ดี เมืองใหญ่ดังเช่นกรุงเทพฯ มีศักยภาพที่จะกลายเป็นตลาดของธุรกิจโคลิฟวิ่งสเปซได้ในอนาคตอันใกล้

 

นางสุพินท์ ยังกล่าวด้วยว่า ที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ มีขนาดเล็กลงและราคา-ค่าเช่าแพงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นต่อไป จะเป็นการยากขึ้นสำหรับประชากรวัยหนุ่มสาวจากเจนวายที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือทำงานมายังได้ไม่นาน ที่จะมีกำลังซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในใจกลางเมืองใกล้ที่ทำงานได้ นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ เติบโตขึ้นในยุคเศรษฐกิจแบ่งปัน ซึ่งให้คุณค่ากับการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องที่คล้ายๆ กัน และเปิดรับการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นกลุ่มลูกค้าของโคลิฟวิ่งสเปซ

 

“ด้วยเหตุผลดังกล่าว โคลิฟวิ่งสเปซจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นตลาดที่เสนอโอกาสใหม่ๆ ให้กับนักพัฒนาโครงการและนักลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต ดังที่กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ จากต่างประเทศทยอยกันเข้ามาเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ตามอาคารสำนักงานต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อเปิดให้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซ” นางสุพินท์สรุป