สนข. ดันแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปรับปรุงโครงข่ายถนน แก้ปัญหารถติด  เพิ่มการเข้าถึงรถไฟฟ้า

 

วันนี้ (23 มีนาคม 2561) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวข้องกับด้านคมนาคมขนส่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสื่อมวลชน เข้าร่วมการสัมมนาฯ ดังกล่าว โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการสัมมนาฯครั้งนี้

 

นายอาคมฯ กล่าวว่า รัฐบาล ได้ตระหนักถึงปัญหาจราจร  จึงมีแนวคิดในการลดปัญหาการจราจรในปัจจุบัน โดยให้พิจารณาความเชื่อมโยงในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน การบังคับใช้กฎหมาย การกำหนดมาตรการนโยบายต่างๆ รวมทั้งการวางแผนพัฒนาเมืองให้ไปในทิศทางเดียวกัน รัฐบาลจึงมีแนวนโยบายในการดำเนินการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานให้สอดคล้องกับการวางแผนพัฒนาเมือง และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น กระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้ สนข. ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการขนส่งและจราจรมีกรอบในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการจราจรที่มีความเชื่อมโยงกันครบทุกมิติ รวมทั้งเพื่อศึกษา วิเคราะห์ปัญหาด้านการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และขีดความสามารถการรองรับความต้องการการเดินทาง ซี่งการแก้ไขปัญหาการจราจรจะต้องเกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุการดำเนินงานตามแนวทางการขนส่งที่ยั่งยืน อันจะเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมต่อไป

 

นายอาคมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ ได้แก่

1) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ปัญหาด้านการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและขีดความสามารถการรองรับความต้องการในการเดินทางภายใต้การวางแผนพัฒนาเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และการจัดระบบการจราจรในปัจจุบันและตามแผนงานในอนาคต รวมถึงโครงข่ายถนน สะพาน ทางพิเศษ ระบบขนส่งมวลชน และจุดเชื่อมต่อการเดินทาง

2) เพื่อศึกษา ทบทวน ข้อมูลการบูรณาการพัฒนาระบบการจราจร ในประเทศที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ที่มีรูปแบบและลักษณะเมืองใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร

3) เพื่อจัดทำแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะทิศทางการพัฒนาด้านระบบการจัดการจราจร ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรอย่างบูรณาการ สอดคล้อง และลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และ 4) เพื่อสนับสนุนทางวิชาการในการเสนอแนะนโยบาย/แผนการจัดระบบการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้และศักยภาพในการปฏิบัติงานในการวิเคราะห์วางแผนระบบจราจรและขนส่งให้แก่เจ้าหน้าที่ของ สนข. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ด้านนายชยธรรพ์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวตอนท้ายว่า สำหรับงานจัดทำแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้มีการทบทวนข้อมูลแผนงานโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการจราจร และการวิเคราะห์ขีดความสามารถการรองรับความต้องการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ ในช่วงปี 2560-2572 แบ่งออกเป็นแผนการพัฒนา 3 ระยะ ประกอบด้วย แผนระยะที่ 1 พ.ศ. 2562-2564 แผนระยะที่ 2 พ.ศ. 2565-2566 และแผนระยะที่ 3 พ.ศ. 2567-2572 ซึ่งมีข้อเสนอแนะทิศทางการพัฒนาด้านระบบการจัดการจราจรให้สอดคล้องและบูรณาการร่วมไปกับการพัฒนาเมือง รวมทั้งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรอื่นๆ ด้วยเพื่อให้เกิดความสอดคล้อง มีประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน เช่น การเสนอก่อสร้างเส้นทางถนนสายใหม่ที่ควรมีเพิ่มขึ้น การจัดทำทางลอดหรือทางยกระดับในทางแยกที่สำคัญ การแก้ไขปัญหาคอขวด การใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ไขปัญหา การบังคับใช้กฎหมาย การกำหนดมาตรการ/นโยบายต่างๆ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรเชื่อมโยงครบทุกมิติ

 

ลดเวลาการเดินทางลดความสูญเสียคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ณ ปี 2572 ได้มากกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี : ทั้งนี้ สนข. ได้ดำเนินการศึกษามาถึงขั้นจัดทำร่างแผนแม่บทบูรณาการจัดระบบการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้จัดสัมมนาให้มีการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ในวันนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทบูรณาการฯ ร่วมกัน และ สนข. จะได้นำข้อคิดเห็นจากการสัมมนาฯ  ไปปรับปรุง แก้ไข แผนแม่บทบูรณาการจัดระบบการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่จะมีระบบขนส่งมวลชนทางรางพร้อมเปิดให้บริการครบทุกเส้นทางภายในปี 2572 ต่อไป

 

การจัดทำแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อแก้ไขปัญหารถติด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,000 ตร.กม. บริเวณที่มีคนหนาแน่น และบริเวณแนวรถไฟฟ้า ซึ่งผลการศึกษามีทั้งถนนสายรอง การปรับปรุงถนน การทำสะพานข้ามคลอง รวมถึงสะพานหรืออุมงค์ข้ามแยก รวมทั้งหมดกว่า 300 โครงการระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 -2572 โดยจะเริ่มในปี 2562-2564  หากโครงการทั้งหมดเสร็จสิ้นในปี 2572 จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงรถไฟฟ้า 34 จุด ครอบคลุมรถไฟฟ้า 6 สาย ทำให้คนเดินทางประหยัดเวลาได้มากกว่า 30 ชม./คน/ปี ลดความสูญเสียคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ณ ปี 2572 ได้มากกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

สาเหตที่กรุงเทพฯและพื้นที่ต่อเนื่องประสบปัญหารถติด

  • การที่ประชาชนไม่สะดวกในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะโดยรถไฟฟ้า
  • การเดินทางมายังสถานีรถไฟฟ้าที่ยากลำบาก ทำให้ส่วนใหญ่หันไปใช้รถยนต์ส่วนตัว
  • ปัญหาที่ถนนสายหลักไปปิดล้อมพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่ ( Super Blok )ทำให้ต้องเดินทางอ้อมระยะไกล
  • เกิดปัญหาจราจรตรงจุดตัดระหว่างถนนหลักและถนนซอย