เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กนศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบหลักการของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไปเร็วๆ นี้ รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP1 กล่าวคือ ภาครัฐจะดำเนินการเวนคืนที่ดิน และภาคเอกชนจะดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถ เดินรถและซ่อมบำรุง เนื่องจากโครงการไม่คุ้มค่าทางการเงินจึงทำให้ภาครัฐต้องให้เงินสนับสนุนในระยะก่อสร้างและ/หรือระยะดำเนินการ ในขณะที่รูปแบบการรับรายได้ของเอกชน จะแบ่งเป็น City Line ในรูปแบบ Net Cost และ Inter-City Line ในรูปแบบ Gross Cost เพื่อแบ่งรับความเสี่ยงระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์จะเป็นรูปแบบ PPP1 เช่นเดียวกัน ภาคเอกชนจะได้รับรายได้จากการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ และภาครัฐจะได้รับค่าเช่าจากที่ดินมักกะสัน

การพัฒนา EEC เป็นการสร้างพื้นที่ต่อขยายของเมืองให้กับกรุงเทพฯ  รถไฟความเร็วสูงเส้นนี้มีความสําคัญ  4 ด้านคือ  1) รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเข้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน จะเป็นการยกระดับสนามบินอู่ตะเภามาเป็น สนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ให้ทํางานควบคู่กับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิที่มีผู้โดยสารเกินความจุแล้ว 17 ล้านคนต่อปี

 

โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนา 2)    รถไฟความเร็วสูง เป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนาจากกรุงเทพฯ เชื่อม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยจะมีสถานีรถไฟ 5 สถานี  (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา) ซึ่งนอกจากจะมีการพัฒนาบริเวณสถานีให้เป็นพื้นที่พัฒนาเชื่อมโยงกับชุมชนชนเก่าแล้ว  ประชาชนตลอดเส้นทาง สามารถมาใช้บริการโดยนำรถยนต์ไปจอดที่สถานีเหล่านี้ได้ ทำให้ประหยัดเวลาการเดินทางมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้รถติดมาก  และประเทศได้ประโยชน์จากการลดการใช้น้ำมันและลดความแออัดบนถนน

 

ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. สนามบินอู่ตะเภาสามารถเชื่อมกับกรุงเทพฯ ได้ใน   45 นาที  เทียบกับ 2-3 ชั่วโมงโดยรถยนต์ คาดว่าใช้เวลาเดินทางจาก กรุงเทพฯ – ระยอง 60 นาที กรุงเทพฯ – จันทบุรี 100 นาที และกรุงเทพฯ – ตราด 120 นาทีในอนาคตผู้โดยสาร สามารถลงเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา แล้วขึ้นรถไฟความเร็วสูงเข้า กรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว (ใช้เวลาใกล้เคียงกับ สนามบินนาริตะเข้ากรุงโตเกียว)

 

ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 700,000 ล้านบาท  (มูลค่าปัจจุบัน)โดยแบ่งเป็น  50 ปีแรก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท   (มูลค่าปัจจุบัน) ซึ่งมากกว่าเงินลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) จึงถือว่าเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน    เมื่อครบ 50 ปี แล้ว ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนสิ้นอายุของโครงการอีกอย่างน้อย     300,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน)

 

โครงการนี้ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา    โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงรวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร

1) รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยาย แอร์พอร์ตลิงก์   ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม. (อยู่ในแผนเดิมที่จะมีการก่อสร้าง ความเร็ว 160 กม./ชม.)

2) รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม. (ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน ความเร็ว 160 กม./ชม.)

3) รถไฟความเร็วสูงจาก สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. (ปรับจากแผนเดิมของรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (ลาดกระบัง-ระยอง ความเร็ว 250 กม./ชม.)

4) พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร

* สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง รวมที่จอดรถและเชื่อมโยงกับรถไฟใต้ดิน

* สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานี ที่จอดและอู่ซ่อม เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟแต่ใช้ประโยชน์พื้นที่เพียง 75 ไร่ เพื่อปรับปรุงเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง และอู่ซ่อมรถจักรของการรถไฟ ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 25 ไร่ จึงกำหนดให้เอกชนนำไปพัฒนา และจ่ายค่าเช่าให้การรถไฟตามราคาตลาด

 

รวมแอร์พอร์ตลิงก์: เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนเรื้อรังของแอร์พอร์ตลิงก์ โดยให้เอกชนซื้อกิจการ

กรณีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ปัจจุบันการดำเนินงานขาดทุนสะสมประมาณ 1,785 ล้านบาท โดยปี 2560 ขาดทุนประมาณ 280 ล้านบาท และเป็นหนี้จากการก่อสร้างประมาณกว่า 33,000 ล้านบาท เมื่อต้องทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงนำโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ มารวมและแก้ปัญหาการขาดทุนทีเดียว ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะต้องซื้อกิจการในมูลค่าที่เหมาะสม และการรถไฟจะสามารถนำไปลดหนี้ได้

มูลค่าการลงทุนโครงการให้เอกชนเข้าร่วมทุนฯ

เงินลงทุนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  หน่วย (ล้านบาท)

  • ค่าเวนคืนที่ดิน 4,992 ล้านบาท
  • เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น ทางวิ่ง สถานี depot การแก้ปัญหาจุดตัดระดับดิน) 148,842 ล้านบาท
  • เงินลงทุนงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 32,577 ล้านบาท
  • เงินลงทุนงานจัดหาขบวนรถ 22,032 ล้านบาท
  • ค่าที่ปรึกษา 5,866 ล้านบาท

รวมเงินลงทุนรถไฟความเร็วสูง  214,308 ล้านบาท

เงินลงทุนพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมที่ดินมักกะสัน (ขนาดประมาณ 140 ไร่) 56,685 ล้านบาท

เงินลงทุนที่ดินรอบสถานีความเร็วสูง 4 สถานี (ฉะเชิงเทรา ศรีราชา พัทยา ระยอง) ใช้เขตทางเดิม 25,428 ล้านบาท

รวมเงินลงทุนการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรม 82,113  ล้านบาท

รวมเงินลงทุนทั้งหมด*  296,421 ล้านบาท

หมายเหตุ * สัดส่วนการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ยังอยู่ระหว่างการศึกษา

 

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ (ก่อสร้างและให้บริการ) ให้เอกชนร่วมทุนฯ

ขึ้นอยู่กับรูปแบบร่วมลงทุนที่เหมาะสมสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการศึกษา คาดว่าจะมีระยะเวลาโครงการ 30 ปี ถึง 50 ปี

 

 

อัตราค่าโดยสาร

          ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสัน ถึงพัทยา ประมาณ 270 บาท

          ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสัน ถึงสนามบินอู่ตะเภา ประมาณ 330 บาท

แผนการปฎิบัติงาน (Timeline)

  1. ประกาศเชิญชวนนักลงทุน มกราคม 2561
  2. ให้เอกชนเตรียมยื่นข้อเสนอ กุมภาพันธ์ 2561
  3. ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือก พฤษภาคม 2561
  4. ลงนามในสัญญา สิงหาคม 2561
  5. เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ พ.ศ. 2566