“ไพรินทร์  ชูโชติถาวร”  แจงสรุปผลการพิจารณารูปแบบทางเลือก งานศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) เลือกรูปแบบที่ 4 ระบบขนส่งมวลชนหรือรถไฟฟ้าและระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกัน คาดชงเข้าครม.พิจารณาอนุมัติได้ในเดืนกรกฎาคม นี้รวมเม็ดเงินลงทุน 7.5 หมื่นล้านบาท

 

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและระบบคมนาคมในระยะยาว เพื่อดำเนินโครงการศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการคมนาคมขนส่งที่เหมาะสมและใช้ประโยชน์เสาตอม่อ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ที่มีการก่อสร้างเสาตอม่อเตรียมไว้แล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ หรือถนนเกษตร – นวมินทร์ แต่เดิมได้กำหนดให้เป็นเส้นทางเชื่อมกับระบบทางพิเศษระหว่างเมืองด้านตะวันออก – ตะวันตก ต่อมาในปี 2557 กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โดยใช้เสาตอม่อโครงการระบบทางด่วนดังกล่าวให้เกิดประโยชน์

รูปแบบการที่ 4  ซึ่งเป็นการพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชนหรือรถไฟฟ้าและระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกัน

ล่าสุด วันนี้( 19 ก.พ.2561)สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 (การสรุปผลการพิจารณารูปแบบทางเลือกของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี(บึงกุ่ม)มีผู้แทนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน ประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมประชุม โดยมีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมสัมมนาฯดังกล่าว

 

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ผลการศึกษานั้นได้ข้อสรุปว่ารูปแบบการที่ 4  ซึ่งเป็นการพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชนหรือรถไฟฟ้าและระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกัน มีความเหมาะสมที่จะสามารถรองรับการเดินทางได้ดีที่สุด อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และประหยัดเวลาการเดินทางของประชาชนขณะที่ระบบทางด่วนจะเชื่อมโยงโครงข่ายทางด่วนระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วานและถนนประเสริฐมนูกิจ รวมทั้งยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจถึงร้อยลุ 16.02% และจำนวนผู้โดยสารของระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบเพิ่มขึ้น 3.36% ในปี 2594 ดังนั้นการพัฒนาทั้งระบบรถไฟฟ้าและทางพิเศษ แนวทางเลือกที่ 4 จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

 

ทั้งนี้ในการดำเนินการนั้นจะดำเนินการและคิดวางแผนไปพร้อมๆกันระบบขนส่งมวลชนหรือรถไฟฟ้าและระบบทางด่วนซึ่งความเป็นไปได้ในการก่อสร้างนั้นน่าจะเป็นทางด่วนดำเนินการได้ก่อนโดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างระบบทางด่วนประมาณ 25,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการระบบขนส่งมวลชนหรือรถไฟฟ้านั้นอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้จะดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ  PPP (Public – Private Partnership )

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) จะเริ่มต้นจากแยกแคราย เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพู มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน จุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) จุดตัดทางหลวง 350 จุดตัดถนนนวมินทร์ เลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ สิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง รวมระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร จำนวนสถานีเบื้องต้น 18 สถานี

ในส่วนของระบบทางด่วนจะเป็นการต่อขยายแนวระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยาย ไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช-ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตกส่วนต่อขยายที่ทางแยกต่างระดับรัชวิภา โดยแนวเส้นทางแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วงแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร

 

และ2.ช่วงทดแทนตอน N1 แนวคลองบางบัว คลองบางเขน และเลียบขนานดอนเมืองโทลล์เวย์ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ทั้งนี้ สนข. จะได้นำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)  เพื่อพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการ ก่อนมอบหมาย สนข. พิจารณาระยะเวลาการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่เหมาะสม และมอบหมายการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบทางด่วนทดแทน ตอน N1 ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 และ E-W Corridor เพื่อลดผลกระทบการจราจรบริเวณแยกเกษตร ทั้งนี้ ยังจะต้องจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  EIA  รวมถึงลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มย่อยเพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม)ดำเนินการก่อสร้างแล้ว เสร็จจะทำให้โครงข่ายระบบรถไฟฟ้ามีระยะทาง 480 กิโลเมตรครบตามแผนงานรถไฟฟ้า Map 1 ทั้งหมด 11 สายที่จะต้องสร้างให้เสร็จทั้งหมดในปี 2572  ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)กล่าวว่าโครงการนี้ใช้เวลาในการศึกษารวม 14เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2560 – 9 มิถุนายน  2561ซึ่งยังเหลือขั้นตอนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 สรุปผลการศึกษาโครงการด้านความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสรุปรูปแบบระบบรถไฟฟ้า รูปแบบการลงทุน จากนั้น สนข.จะนำผลสรุปการศึกษานำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนาโครงการและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาอนุมัติภายในเดือนกรกฎาคม 2561 หากผ่านการพิจารณาต่างๆตามขั้นตอนแล้วกระทรวงคมนาคมจะมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พัฒนาโครงการต่อไป

 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ได้ดำเนินการศึกษารูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อดังกล่าว 4 รูปแบบ ประกอบด้วย

  1. การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า)
  2. การพัฒนาด้วยระบบทางพิเศษ (ทางด่วน) ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor (โครงข่ายเชื่อมต่อจาก N2 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9)
  3. การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N 2และส่วนต่อขยายกับแนวโครงข่ายทดแทน N1 แนวคลองบางบัวและคลองบางเขน

 และสุดท้ายรูปแบบที่ ๔. การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) และระบบทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน