ภายหลังจากที่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ได้ออกประกาศชี้แจงผลการเข้าซื้อหุ้นบริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ จำกัด (มหาชน) หรือเอฟแอนด์เอ็น เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงสร้างใหม่ของกลุ่มเอฟแอนด์เอ็น คือ การแยกบริษัทที่ดูด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือ บริษัท เฟรเซอร์ส  เซ็นเตอร์พอยท์ หรือ เอฟซีแอล (Frasers Centrepoint Limited : FCL) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ สิงคโปร์) ขณะที่กลุ่มเจ้าสัวเจริญก็มีทีซีซี กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจอสังหาฯเองอยู่แล้ว ในนามบริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด และบริษัทลูกอีกหลายราย ทั้งบริษัท ทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ จำกัด นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอสังหาฯ ที่ถือหุ้นโดยตระกูล “สิริวัฒนภักดี” อีกหลายบริษัท เช่น บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)หรือโกลเด้นแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีโครงการพัฒนาอสังหาฯ หลากหลาย ทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร เป็นต้น

 

สำหรับกลุ่มเฟรเซอร์ส ปัจจุบันถือเป็นกลุ่มที่พัฒนาธุรกิจอสังหาฯใหญ่เป็นอันดับ3 ในสิงคโปร์ และผู้บริหารกองรีท (REIT: ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์) ในหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย ญี่ปุ่น เกาหลี  จีน อินเดีย ยุโรป ออสเตรเลีย มีทรัพย์สินรวมกว่า 5.8 แสนล้านบาท (รวมมูลค่ากองรีทที่บริหาร) โดยโครงการในสิงคโปร์นั้นมีทั้งที่อยู่อาศัย  อาคารสำนักงาน และรีเทล  ล่าสุดอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอาคาร”เฟรเซอร์ส ทาวเวอร์”ซึ่งอยู่ย่านใจกลางเมืองสิงคโปร์ เป็นแหล่งรวมอาคารสำนักงาน ในจำนวนนี้ยังเป็นที่ตั้งของธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)แบงก์สัญชาติไทย ในสิงคโปร์ด้วย

 

 

รีแบรนด์บริษัทสร้างการรับรู้พัฒนาอสังหาฯครบวงจร

 โดยนายก๊อก ฮัว อึ่ง  ผู้อำนวยการ ฝ่ายลงทุนกลุ่มธุรกิจ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ สิงคโปร์  เปิดเผยว่าในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมากลุ่มเฟรเซอร์ส ได้ขยายฐานธุรกิจออกไปยังทวีปยุโรป ออสเตรเลีย  เอเชีย และแอฟริกา มากขึ้น ดังนั้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา  จึงได้มีการรีแบรนด์ชื่อบริษัทจาก เฟรเซอร์ส  เซ็นเตอร์พอยต์ ลิมิเต็ด เป็นบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ สิงคโปร์ ทั้งนี้ต้องการให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่ากลุ่มเฟรเซอร์สฯนั้นพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรในทุกเซกเมนต์ ไม่ใช่พัฒนาเพียงเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์เท่านั้น

 

“เฟรเซอร์ส ทาวเวอร์” ตั้งอยู่บนพื้นที่ 4.77 ไร่ ย่านซีบีดี(Central Business District)ของสิงคโปร์ เป็นอาคารสูง 38 ชั้น (ถือเป็นอาคารสำนักงานโครงการที่ 8 ของกลุ่มเฟรเซอร์สฯ)  แบ่งเป็นพื้นที่อาคารสำนักงาน 32 ชั้น และพื้นที่รีเทลบริเวณชั้นใต้ดิน  ซึ่งกลุ่มเฟรเซอร์สฯได้เช่าซื้อที่ดินมาเมื่อปี 2556 ในราคา 924 ล้านเหรียญสิงคโปร์ สัญญาระยะยาว 99 ปี โดยลักษณะการปล่อยเช่าพื้นที่ของสิงคโปร์จะเริ่มปล่อยเช่าพื้นที่จากชั้นล่างสุดขึ้นไปชั้นบนสุด โดยแต่ละชั้นจะมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1,850-2,000 ตารางเมตร ขณะนี้สามารถปล่อยพื้นที่เช่าไปได้แล้ว 70% โดยผู้เช่าพื้นที่เป็นบริษัทข้ามชาติทั้งหมด แต่ไม่สามารถเปิดเผยราคาเช่าได้ เชื่อว่าหากการก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส2/2561 ก็จะทำให้เป็นอาคารสำนักงานที่สูงที่สุดในสิงคโปร์

 

“เราต้องการพัฒนาโครงการที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ที่เขาไม่มี และพยายามเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้เช่าได้มากที่สุด เช่น มีที่จอดรถจักรยาน,มีพื้นที่อาบน้ำบริเวณชั้นล่างของอาคาร รวมไปถึงมีพื้นที่สำหรับให้บริการจัดมีทติ้ง อีกทั้งบริเวณชั้นดาดฟ้า ยังเป็นพื้นที่พาโนรามา360 องศา สามารถมองเห็นสิงคโปร์ได้ทั้งหมดอีกด้วย” นายก๊อก กล่าวในที่สุด

 

 

รัฐบาลสิงคโปร์เตรียมขยายโซนที่อยู่อาศัยใหม่บนสุสานเก่า

นายหว่อง ซี หวา ผู้จัดการทั่วไป โครงการวอเตอร์เวย์พ๊อยต์ ประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนของ 3 กลุ่มคือเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ สิงคโปร์,กลุ่มฟาร์อีสต์ ออกาไนซ์เซชั่น สิงคโปร์และกลุ่มSekisui House จากญี่ปุ่น พัฒนาโครงการในรูปแบบของมิกซ์ยูส บนที่ดินเช่าระยะยาว 99 ปี  จำนวน 18 ไร่ประกอบด้วย ศูนย์การค้าและคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นโครงการเดียวที่ดำเนินการในลักษณ์ดังกล่าวในย่านพังโกล (Punggol) ที่อยู่ย่านชานเมือง  โดยศูนย์การค้าวอเตอร์เวย์พ๊อยต์ มีพื้นที่ทั้งหมด 320,000 ตารางฟุต หรือประมาณ 50,000 ตารางเมตร รวมร้านค้าแบรนด์ดังทั้งสิ้น 251 ร้านค้า ใช้เม็ดเงินในการลงทุนประมาณ 1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท  โดยเปิดให้บริการเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา

 

ส่วนคอนโดมิเนียม แบรนด์ “วอเตอร์ ทาวน์”มีจำนวนประมาณ 1,000 ยูนิต ขนาดประมาณ 90-150 ตารางเมตร ขนาด 1-3 ห้องนอน ราคาประมาณ 1.3-3 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ซึ่งปิดการขายไปหมดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง ด้วยเพราะโครงการตั้งอยู่ย่านชานเมืองจึงไม่ค่อยมีชาวต่างชาติออกมาเช่าพักอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว

 

 

“การในพัฒนาโครงการในรูปแบบของมิกซ์ยูสในสิงคโปร์มีมาประมาณ 20 ปีแล้ว เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่เล็ก ดังนั้นการพัฒนาโครงการต้องใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุด โดยในย่านใจกลางเมือง 1 อาคารจะประกอบด้วย อาคารสำนักงาน,คอนโดมิเนียมและรีเทล ขณะที่โครงการย่านชานเมือง 1 อาคารจะมีเพียงคอนโดฯและรีเทล เชื่อว่าเทรนด์นี้จะยาวไปอีก 5ปี(ถึงปี2565)”นายหว่อง กล่าว

 

นายหว่อง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า(ปี2561-2565)ทางรัฐบาลสิงคโปร์จะขยายพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ไปอยู่ที่โซนBidada Estate ซึ่งเป็นสุสานเดิม และนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย โดยชาวสิงคโปร์นั้นมีความเชื่อว่าหากอยู่อาศัยบนที่ดินที่เคยเป็นสุสานมาก่อนจะทำให้อยู่แล้วรวย ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาของสิงคโปร์ถือเป็นเรื่องปกติที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยจะกระจายจากในย่านใจกลางเมืองออกไปนอกเมือง

 

 

แม้จะเป็นประเทศบนเกาะเล็กๆแต่สิงคโปร์ถือว่ามีการจัดวางผังเมืองได้ดีเยี่ยมป็นลักษณะที่แยกพื้นที่เศรษฐกิจให้กระจายออกไปในหลายจุดของเกาะ จัดวางส่วนพักอาศัย พื้นที่ราชการ อาคารสถาบันให้ผสมผสานกันทั่วเกาะ ห้โอกาสนักออกแบบเมือง สถาปนิก ทำงานตามความรู้อย่างเต็มที่ ซึ่งการวางผังเมืองแบบผสมผสานนี้ช่วยให้เมืองไม่ตายในเวลาใดเวลาหนึ่ง ช่วยให้เมืองมีความยืดหยุ่น มีชีวิตชีวามากกว่าเมืองที่วางแบบแยกขาดกันชัดเจน