นายกสมาคมอาคารชุดไทยเห็นด้วยแบงก์ชาติร่อนหนังสือเวียนห้ามแบงก์งดทำธุรกรรมเกี่ยวข้อง “คริปโตเคอเรนซี”เหตุไม่มีกฎหมายรองรับ ระวังอาจะถูกแฮกข้อมูลสูญเงินมหาศาล  ส่วนปัญหาหนี้เสียระบุแบงก์เริ่มดิ้นออกแคมเปญ ให้คำปรึกษาผู้บริโภคก่อนซื้อบ้านลดปัญหา  ด้านรายเล็กแห่ปรับตัวสู้รายใหญ่ ผลิตสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภค

 

 

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin หรือ Ether ว่าเรื่องดังกล่าวในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวจะต้องมี server มารองรับ รวมทั้งมีเรื่องการเก็งกำไรจาก2ตลาด (Abitrage) และเรื่องการเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น หรือ ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว และมีราคาที่หวือหวามากครั้นพอตกลงก็ต่ำมากเช่นกัน ซึ่งมีความน่ากลัวมาก โดยกูรูในวงการแนะนำว่าไม่ควรเข้าไปเล่นICO อย่างเสียสติ เพราะไม่มีกฎหมายมารองรับ และที่สำคัญต้องระวังถูก  Hacker (แฮก์เกอร์)ข้อมูล เพราะที่ญี่ปุ่นถูกแฮกเกอร์กันมามากแล้วคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านเยน

 

“การที่ธปท.ออกมาควบคุมถือว่าเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ในระดับหนึ่ง อย่างการทำธุรกรรมBitcoin หากไม่มีมูลค่าทรัพย์สินจะส่งบัญชีได้อย่างไร ซึ่งมีความเสี่ยงสูง และขณะนี้ในประเทศไทยังไม่มีผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาฯรายใดเข้าไปดำเนินธุรกรรมในรูปแบบดังกล่าว” นายประเสริฐ กล่าว

 

 

อนึ่ง ICO เป็นการระดมทุนและลงทุนเพื่อที่จะเปิดตัวโปรเจกต์โครงการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทสตาร์ทอัพ โดยมีการออกเหรียญดิจิทัล ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นมาโดยมีฐานเป็น Ethereum) มาเพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในตัวโปรเจคดังกล่าว (หรือแม้กระทั่งบริษัท) กล่าวคืออาจจะคล้ายคลึงกับ IPO หรือ Initial Public Offering ที่รู้จักกันดี เพียงแต่ตัวหุ้นนั้นจะถูกแทนที่ด้วยเหรียญดิจิทัลและสามารถนำไปแลกหรือซื้อขายเป็นเหรียญสกุลอื่นๆได้อย่าง Bitcoin ทั้งนี้รูปแบบดังกล่าวจะต่างจากการเสนอขายหุ้นในระยะเริ่มต้นหรือ IPO โดยการได้มาซึ่งเหรียญไม่ได้แปลว่าเรามีสิทธิหรือมีส่วนร่วมในหุ้นส่วนของบริษัทที่กำลังสร้างเงินดิจิตอลสกุลใหม่นั้นๆ IPO นั้นถูกรองรับโดยรัฐบาล แต่ ICO นั้นยังไม่มีกฎหมายที่แน่นอนมารองรับรับ ซึ่งการระดมทุน ICO เกิดขึ้นครั้งแรกโดย Mastercoin ในปี 2556 และในปีต่อมา Ethereum ก็ระดมทุน ICO เช่นกัน

 

โดยICO ค่อนข้างได้รับความนิยมในหมู่สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งการขายเงินดิจิทัล แบบนี้ดูเหมือนจะสร้างกำไรได้ดีกว่าและเร็วกว่าการระดมทุนด้วยหุ้น เนื่องจากการใช้เหรียญ cryptocurrency ที่มีความรวดเร็วในการโอน ใครจะซื้อก็สามารถซื้อได้ แค่เข้าไปในเว็บซื้อขายและโอนเหรียญ Ethereum ของผู้ลงทุนเข้าไป แค่นี้ก็ได้เหรียญ ICO ของบริษัทนั้นๆมาแล้ว โดยที่ไม่ต้องมีการลงทะเบียนหรือเซ็นสัญญาอะไรให้ยุ่งยาก ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระดับที่รวดเร็วมาก

 

นายประเสริฐ กล่าวต่อถึงปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินพยายามที่จะหาทางแก้ปัญหาให้กับตนเองมากที่สุด ด้วยการเตรียมจัดแคมเปญต่างๆเพื่อลดปัญหาหนี้เสีย ในการให้คำปรึกษาผู้ผู้บริโภคในการเตรียมตัวซื้อบ้าน ซึ่งหากประสบความสำเร็จ สถาบันการเงินก็จะมีความเสี่ยงน้อยลง

 

ส่วนการที่ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างนำเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่มาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในโครงการ และหวังดึงกำลังซื้อนั้น มองว่าเทคโนโลยีนั้นเปรียบเสมือนเป็นCosmeticsในการพัฒนาโครงการ ซึ่งเป็นสัดส่วนเพียง 30% เท่านั้นที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ ส่วนอีก70%นั้นจะเป็นในเรื่องของคุณภาพสินค้า

 

ขณะเดียวกันโครงการต่างก็จะมีการร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น ด้านผู้ประกอบการรายเล็กนอกจากต้องมีสายป่านทางการเงินที่ยาวแล้ว ก็ต้องปรับตัวพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเข้าไปอยู่ในซอยที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าไปพัฒนาไม่ถึง ดังนั้นในยุคปัจจุบันนี้ผู้ที่อยู่รอดได้ก็คือผู้ประกอบการตัวจริงทั้งสิ้น