สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) พ.ศ… แล้วอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2561  ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนภาคเอกชนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศในการเลือกเข้ามาลงทุนพัฒนาและขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 (Thailand 4.0) ในระยะ 20 ปี (2560-2579) อันจะมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และสามารถนำพาประเทศไทยให้ก้าวสู่ประเทศรายได้สูงในอนาคต

 

จากความความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดังกล่าวศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจะเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนภาคเอกชนในการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะยาวจากการให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีแก่นักลงทุนเพิ่มเติม หรือการออกใบอนุญาตต่างๆที่รวดเร็วมากขึ้น นอกเหนือจากความพยายามของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ผ่านโครงสร้างพื้นฐานและสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) พ.ศ… ที่เพิ่งพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้นนับได้ว่าเป็นส่วนเติมเต็มสำคัญอีกประการในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศตัดสินใจเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายบนพื้นที่ EEC โดยภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าวนั้นได้ให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีแก่นักลงทุนเพิ่มเติม อาทิ การต่ออายุการเช่าที่ดินเพิ่มได้สูงสุด 99 ปี การปรับปรุงเงื่อนไขการจัดตั้งศูนย์บริหารเงิน หรือการออกใบอนุญาตต่างๆที่รวดเร็วมากขึ้น อาทิ การจัดสรรที่ดิน การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และสุขภาพ (EHIA) หรือแม้กระทั่งการให้สัมปทานต่างๆ  อย่างไรก็ดี ทางการไทยควรจะยึดมั่นต่อการรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตในระยะเร่งด่วนกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานเดิมของผู้ประกอบการไทยในระยะยาว

 

โดยหากพิจารณาถึงการลงทุนภาคเอกชนในแถบพื้นที่ EEC นักลงทุนต่างชาตินับได้ว่าเป็นผู้เล่นสำคัญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกจัดอยู่ในอุตสาหกรรม First S Curve ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะสั้น-กลาง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยให้ทิศทางการลงทุนจากต่างประเทศในพื้นที่ EEC เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพในการต่อยอด (First S-Curve) ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยรวมให้ขยายตัวขึ้นจากราว 283,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2560 ไปเป็น 400,000 ล้านบาทภายในปี 2565

ทั้งนี้ นักลงทุนหลักในพื้นที่ EEC คาดว่าจะยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น แต่อาจจะเห็นโครงการลงทุนมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เพื่อมาขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ในระยะข้างหน้า

 

มองไปในระยะยาว การพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve บางประเภทที่ใช้นวัตกรรมเข้มข้นอาจเผชิญความท้าทายจากความพร้อมทางด้านนวัตกรรมของไทยที่แข่งขันได้ยากขึ้น ซึ่งคงต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือของหลายฝ่ายอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับแนวคิดการจัดตั้ง EECi และ EECd ในพื้นที่ EEC เพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ที่มาข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ file:///C:/Users/WindowS%2010%20Pro/Downloads/2899-p.pdf

2899-p