สศค.ระบุภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบังคับใช้แน่ปี 2562 พร้อมกำหนดบัญชีแนบท้ายกฎหมายหวังลดปัญหาใช้ดุลพินิจของหน่วยงานท้องถิ่น

 ดร.พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงินสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2018” จัดโดย3สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ถึงความคืบหน้าของ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คาดว่าจะเข้าวาระ 2-3 เร็วๆ นี้โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 กฎหมายดังกล่าวถูกร่างขึ้นมาเพื่อทดแทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บหรือการบริหารจัดการภาษีทรัพย์สินมีความทันสมัย โดยฐานภาษีในการจัดเก็บจะใช้ฐานเดียวคือ มูลค่าทรัพย์สิน มีการแบ่งประเภทที่ “ใช้ประโยชน์” กับ “ไม่ใช้ประโยชน์” แบ่งได้ 3ประเภทคือ เกษตรกรรม, บ้านพักอาศัย และ อื่นๆ เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ส่วนที่ไม่ใช้ประโยชน์คือ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า

 

ส่วน “อัตราการจัดเก็บ”นั้น จากการที่ทางกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อเดือนธันวาคม 2560ที่ผ่านมาได้มีการประกาศเป็น “เพดาน”  ดังนี้ ที่ดินเกษตรกรรมกำหนดเพดาน 0.15%  ,บ้านพักอาศัย อัตราเพดานที่ 0.3% , พาณิชกรรม(อื่นๆ) อัตราเพดานอยู่ที่ 1.2%  ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปลาอัตราภาษีไม่เกิน3% (เพิ่มอัตราภาษี 0.3% ทุก 3ปี)

“เพื่อแก้ไขปัญหาหรือคลายความกังวลเรื่องการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บจะมีการจัดทำบัญชีแนบท้ายกฎหมายให้กำหนดอัตราการจัดเก็บมาเลย” ดร.พรชัย กล่าวพร้อมกับยกตัวอย่างประกอบ เช่น ที่ดินเกษตรกรรมมูลค่า 50-100 ล้านบาท เสียภาษี 10,000 บาท มูลค่า 200 ล้านบาท เสียภาษี 60,000 บาท เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีการยกเว้นและบรรเทาภาษี โดยทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้น (ในพ.ร.บ.) สาธารณสมบัติ ,ทรัพย์สินของรัฐที่ไม่ได้หาปลประโยชน์ ทรัพยฺสินที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ(รัฐ/เอกชน) ,ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด หมู่บ้านจัดสรร และนิคมอุตสาหกรรม ,บ้านพักอาศัยหลัก1หลัง (ส่วนของมูลค่าที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท) เป็นต้น