สคช.คาดปี61 เศรษฐกิจฟื้น จีดีพีขยายตัว4.1% ด้านธปท.คาดเศรษฐกิจฟื้นตัว กระจายตัวสู่ภูมิภาคมากขึ้น สอดคล้องธปท.ระบุแนวโน้มขยายต่อเนื่องถึงปี62 ส่งผลเอกชนกล้าลงทุน แนะเฝ้าระวังสินเชื่ออสังหาฯกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างใกล้ชิด เหตุNPLเริ่มส่งสัญญาณเพิ่มมากขึ้น ด้านTMBเผยเซอร์ไพร์สจีดีพีปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 ปี เชื่อปีนี้แตะ4.2%ส่วนยอดรีเจคคาดลดลงที่30%

 

 

คาดจีดีพีปี61ขยายตัว4.1%

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยในงานสัมมนา อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2018 ภายใต้หัวข้อ “แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ ตลาดเงิน และตลาดทุนของโลกและไทย และผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2018”ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6% และปี 2561 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 4.1% เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทั้งภาคการผลิต ท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ ภาคการเกษตร การจ้างงานที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวดี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกคาดว่าจะเริ่มเห็นการปรับเพิ่มขึ้นบ้างในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อมองว่า จะเริ่มปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายมากขึ้น จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก

 

 

แนะเฝ้าระวังหนี้NPLส่งสัญญาณเพิ่มสูงขึ้น

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา และมีโอกาสที่ขยายตัวในปี 2560 ได้ถึง 4% ซึ่งจะต้องรอติดตามการประกาศตัวเลขของ สศช.อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้ ขณะที่ ธปท. คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปี 2561 ไว้ที่ 3.9% การส่งออกมากกว่า 4% โดยในปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะเริ่มเห็นการกระจายตัวไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น

 

“เศรษฐกิจโลกดี ทำให้การส่งออกของไทยในปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ 9.9% และเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจนถึงปี 2562 เห็นได้จากการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจโลกของ IMF ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 3.9% สะท้อนว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มติดลมบนของการขยายตัว ขณะที่ในปีนี้ ภาครัฐจะเริ่มมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะจะทำให้ภาคเอกชนเริ่มกลับมาลงทุนอีกครั้ง”ดร.ดอน กล่าว

 

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. คณะกรรมการ ระบุว่า แม้จะเริ่มเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก และเศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดี แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงต้องอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่องต่อไปอีกระยะ เนื่องจากยังพบว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นนั้น ยังคงกระจุกตัวในบางภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังไม่กระจายตัวไปยังภูมิภาคอื่น ดังนั้นจึงยังต้องให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

 

“กนง.ยังมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรผ่อนคลายก่อน เพื่อให้เศรษฐกิจกระจายตัวมากขึ้น แต่หากดูอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในระยะยาว เริ่มเห็นการปรับขึ้นบ้าง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสหรัฐ ต้องบอกว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยยังดีกว่าสหรัฐ แต่ในระยะสั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐจะค่อนข้างสูงกว่า ในด้านของผู้ประกอบการเองในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะออกพันธบัตรระยะยาวเพื่อระดมทุนได้”ดร.ดอน กล่าว

 

ขณะที่ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้นั้น มองว่า แม้จะเริ่มเห็นทิศทางที่ดี แต่หากดูสินเชื่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ยังพบว่า ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มเห็นสัญญาณเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 2560 NPL อยู่ที่ระดับ 3.26% และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งยังต้องติดตามการประกาศตัวเลขอีกครั้งของไตรมาส 4 ที่จะออกมานั้น โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่มีภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูง ดังนั้นสถาบันการเงินจะต้องติดตามใกล้ชิด และระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น


เซอร์ไพรส์จีดีพีปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ6ปี

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)หรือ TMB กล่าวว่า สินเชื่อรวมระบบปีนี้จะเติบโต 5-6% จากปีก่อนเติบโต 4% ซึ่งใกล้เคียงกับจีดีพี โดยปีนี้สินเชื่อที่จะมีการเติบโตที่ดีมาจากสินเชื่อเอสเอ็มอี และ สินเชื่อรายใหญ่ ที่ได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่เติบโตได้ดี และ การลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ

 

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ของระบบธนาคารได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อไตรมาส 3/2560 แต่ก็ยังพบ NPL ที่เพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งจะเห็นธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

 

“ปีนี้ธนาคารหลายแห่งได้ประกาศแผนธุรกิจก็พบว่าส่วนใหญ่สินเชื่อจะเติบโตมากขึ้นในปีนี้ เพราะมองว่าเศรษฐกิจจะดีกว่าปีที่แล้ว และการที่จีดีพีไปถึง 4% ถือว่าเซอร์ไพรส์มาก เพราะหลายปีที่ผ่านมาตั้งเป้าทีไร กลางปีปรับลงทุกที ส่วนปีก่อนที่มองโต 4% ก็ถือว่าโตสูงสุดในรอบ 6 ปี ส่วนปีนี้มอง 4.2% ก็ถือว่าสูงอยู่ และ มีโอกาสปรับขึ้นเป็นปีแรก”นายเบญจรงค์ กล่าว

 

สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 5-6% จากปีที่ผ่านมาเติบโต 2.5% โดยมีปัจจัยจาก เศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าจะเติบโต 4.2% เปรีบเทียบกับปีที่ผ่านมาโตที่ 4% มองว่าตลาดระดับกลางและ บนยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่ติดแนวรถไฟฟ้า ทำเล กทม. และ ปริมณฑล ในส่วนของที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบยังมีอัตราการขายที่ดี เพราะอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง แต่ตลาดระดับล่างยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด

 

ส่วนอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Reject)มีแนวโน้มลดลงที่ประมาณ 30% จากปีก่อนหน้านี้อยู่ 40% และ ยังมีสินค้าคงเหลือที่เป็นสินค้าราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท ตลอดจนการขยายตัวของรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้อสังหาฯเติบโตได้

 

ทางด้านปัจจัยลบ ประกอบด้วย ทิศทางดอกเบี้ยที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเพิ่มมาอยู่ที่ 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% ส่วนราคาสินค้าเกษตรก็ยังทรงตัวในระดับต่ำ หนี้ภาคครัวเรือนลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูงที่ 78.4% ต่อจีดีพี และ ที่ดินในทำเลซีบีดี หรือ ทำเลใจกลางเมือง มีราคาที่ดินสูงขึ้นที่ประมาณ 6.4% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายอสังหาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สุดท้าย คือ ปัญหาค่าแรง เพราะจะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ