การขนส่งระบบราง

ความคืบหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ :  การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆที่ได้รับมาพิจารณาประกอบรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการฯ จากนั้นจึงนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

ความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมโยงแหล่งอุตสาหกรรมและท่าเรือ  :  เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ได้ดำเนินงานเจาะอุโมงค์รถไฟลอดใต้เขาพระพุทธฉาย ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร เรียบร้อยแล้ว ด้วยเทคโนโลยี New Austrian Tunneling Method (NATM) ซึ่งเมื่อเจาะอุโมงค์แล้วจะเริ่มงานวางรางเป็นขั้นตอนต่อไป

 

โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ 

 

วงเงิน 1.58 แสนล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อ 3 สนามบินหลัก คือ สนามบินดอนเมือง, สนามบินสุวรรณภูมิ  และสนามบินอู่ตะเภา

 

 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) เป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC  โดยได้รับการบรรจุไว้ในแผนการดำเนินโครงการและงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2560–2561 โดยจะเป็นการปรับปรุงโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างท่าอากาศยาน และโครงการรถไฟความเร็วสูงประกอบด้วย

-โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Rail Link and City Air Terminal : ARL)

-โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท–ดอนเมือง (ARLEX)

-โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ–ระยอง (HSR) เพื่อให้รถไฟฟ้าแบบ City Line  และการเดินรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์เป็นโครงการเดียว สามารถรองรับความต้องการการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น

ล่าสุดได้มีการสรุปแนวเส้นทางของโครงการ โดยจะใช้แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางของโครงการเดิม ได้แก่

1.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองหรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว

2.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท- ดอนเมือง (ARLEX)

3.โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง (HSR) โดยโครงการนี้มีการออกแบบเพิ่มเติมบริเวณเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ขาออก) และสนามบินอู่ตะเภา(ขาเข้า-ขาออก)

แนวเส้นทางดังกล่าวจะพาดผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ระยะทางรวมทั้งสิ้น 260 กิโลเมตร ประกอบด้วย 10 สถานี เป็นสถานียกระดับ 8 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง, สถานีกลางบางซื่อ, สถานีมักกะสัน, สถานีฉะเชิงเทรา, สถานีชลบุรี, สถานีศรีราชา, สถานีพัทยา และสถานีระยอง ส่วนสถานีใต้ดินมี 2 สถานี ได้แก่ สถานีสุวรรณภูมิ และสถานีอู่ตะเภา

 

ส่วนรูปแบบโครงสร้างจะก่อสร้างเป็นทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (standard Gauge) สองทางวิ่ง ซึ่งโครงสร้างทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นทางยกระดับ(Elevated) มีโครงสร้างระดับดิน(At-Grade) และโครงสร้างใต้ดิน(Tunnel) บางช่วง  มีศูนย์ซ่อมบำรุงเดิมที่คลองตัน  เพื่อรองรับรถไฟฟ้า City Line   นอกจากนี้ยังมีศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งใหม่พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ตั้งอยู่ที่จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง โดยมีศูนย์กลางควบคุมการเดินรถ (Operations Control Centre-OCC) ของโครงการตั้งอยู่ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงทั้ง 2 แห่ง โดยตลอดแนวเส้นทางโครงการฯส่วนใหญ่อยู่ในเขตทางของการรถไฟแห่งประเทศไทยเดิม

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินนี้  เมื่อการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จในปี 2566 คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟธรรมดา (City Line) ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ กว่า 103,920 คน/เที่ยว/วัน และมีผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง (HSR) ช่วงสุวรรณภูมิ-ระยอง  ถึงกว่า 65,630 คน/เที่ยว/วัน โดยระยะเวลาการเดินทางจากดอนเมืองถึงระยอง (หยุดทุกสถานี) ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และระยะเวลาการเดินทางจากดอนเมืองถึงระยอง (ไม่จอดระหว่างทาง) ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

ข้อมูลเพิ่มเติม :   www.hsr3airports.com

 

โครงการรถไฟทางคู่เชื่อมโยงแหล่งอุตสาหกรรมและท่าเรือ

(แหลมฉบัง, มาบตาพุด และสัตหีบ)  วงเงิน 6.43 หมื่นล้านบาท  สำหรับการขนส่งสินค้าระบบรางที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ

ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทางรวมประมาณ 106 กิโลเมตร  เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน และการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกกับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  โดยเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่จำนวน 1 ทาง คู่ขนานไปกับทางเดิม เริ่มจากสถานีฉะเชิงเทรา ไปตามทางรถไฟสายตะวันออกเดิม (สายอรัญประเทศ) ผ่านสถานีบางน้ำเปรี้ยว ถึงสถานีคลองสิบเก้า แยกขนานไปกับทางรถไฟสายคลองสิบเก้า – แก่งคอย ผ่านสถานีองครักษ์ วิหารแดง บุใหญ่ สุดปลายทางที่สถานีแก่งคอย ซึ่งผ่านพื้นที่ อ.เมือง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ อ.องครักษ์ และ อ.บ้านนา จ.นครนายก และพื้นที่ อ.วิหารแดง อ.เมือง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระยะทาง 106 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง  10,232.86 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 36 เดือน โดยแบ่งออกเป็น 2 สัญญา ดังนี้

– สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่- แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Line) 3 แห่ง ระยะทางประมาณ 97 กิโลเมตร

– สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร และอุโมงค์รถไฟลอดใต้เขาพระพุทธฉาย ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร

 

ข้อมูลเพิ่มเติม :  www.railway.co.th

คลิกอ่านแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ

ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC)