นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเผยรัฐปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศไม่กระทบราคาที่อยู่อาศัยเท่าต้นทุนที่ดิน ชี้หากปรับสูงถึง 10% คงตื่นตัวพิจารณาขยับเพิ่มแน่ หวั่นแรงงานขาดแคลนยังเป็นปัญหาใหญ่  คาดต้องใช้เวลาให้ผู้ประกอบการไทยยยอมรับเทคโนโลยีใหม่ทดแทนแรงงานคน หวั่นธุรกิจเอสเอ็มอีแบกภาระหนักอยู่รอดยาก

 

 

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงแรงงานมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด ด้วยการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศตั้งแต่ 5-22 บาท หรือเพิ่มเป็น 308-330 บาทนั้น มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ไทยให้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากต้นทุนของค่าแรงมีสัดส่วนไม่มากนัก เพียง 5% เท่านั้น เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ดินที่มีสัดส่วนสูงถึง 10% ซึ่งยังเป็นระดับที่ไม่สูงมากและส่งผลกระทบน้อยต่อต้นทุนการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ทำให้มองว่าจะไม่ส่งผลต่อการปรับขึ้นของอสังหาริมทรัพย์

 

อีกทั้งค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบันยังถือว่าถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไม่มีผลกระทบมากนัก แต่หากอัตราค่าแรงขั้นต่ำมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 10% มองว่าจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์มีการขยับเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นปัจจัยที่จะมีผลต่อการปรับขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นทุนหลักของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะราคาที่ดินในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ ทำให้จะเห็นแนวโน้มของราคาที่ดินขยับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

นอกจากนี้ยังมองว่าในสิ่งที่ยังมีความน่ากังวลอยู่ เป็นเรื่องของซัพพลายแรงงานที่อาจจะยังขาดแคลนหากมีการลงทุนและก่อสร้างโครงการต่างๆเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่นำใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นการก่อสร้างระบบพรีแฟบมาช่วยในการก่อสร้างแทนแรงงานเนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการก่อสร้างในประเทศไทยอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการยอมรับอีกสักระยะ หรือจนกว่าอัตราค่าแรงจะปรับเพิ่มขึ้นสูงจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนก่อสร้าง โดยปัจจุบันระบบพรีแฟบยังมีต้นทุนอยู่ที่ 10-13% แต่มูลค่าในระบบยังใช้ไม่มากและสปีดยังไม่เร็วมากนัก

 

“การขึ้นค่าแรงในครั้งนี้มองว่าราคาบ้านคงไม่ขึ้น เพราะต้นทุนมาจากค่าแรงเพียงเล็กน้อย แต่ที่เป็นต้นทุนหลักๆมาจากที่ดิน ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ทำให้ราคาบ้านปรับเพิ่มขึ้น คิดว่าค่าแรงเพิ่มขึ้นก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มราคาอสังหาฯ อย่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้นมามากเช่น ชลบุรี ระยอง ที่เพิ่มไป 30 บาท แต่ราคาอสังหาฯในพื้นที่นั้นก็ไปล่วงหน้าก่อนขึ้นค่าแรงแล้ว แต่ธุรกิจที่น่าห่วงที่สุดคือ เอ็สเอ็มอี เพราะค่าจ้างธุรกิจนี้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ต่ำ ดังนั้นจะอยู่รอดได้ยาก”นายอธิป กล่าว

 

ส่วนอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน(REJECT)ในปีนี้คาดว่าจะดีขึ้นมาอยู่ที่ 25% ซึ่งเริ่มเห็นภาพตั้งแต่ไตรมาส 3/2560 ที่ยอดREJECT ในระบบอยู่ที่ 28-29% จากเดิมที่อยู่สูงถึง 40% เนื่องจากสถาบันการเงินมองว่าสภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ภาคส่งออกและท่องเที่ยวดีขึ้น ความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียลดลง  จึงมีการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

 

ด้านผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีส่วนแบ่งในตลาดที่มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก สถาบันการเงินก็ยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออยู่ อย่างไรก็ตามคาดว่าซัพพลายคอนโดฯที่ค้างอยู่ในระบบที่ 80,000 ยูนิต,บ้านจัดสรร 40,000 ยูนิต หากไม่มีซัพพลายใหม่เข้ามาในช่วง 4 เดือนนี้ คาดว่าซัพพลายเดิมที่มีก็จะสามารถระบายได้หมด

 

อนึ่ง การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 มีทั้งหมด 7 อัตรา คือ ตั้งแต่ 8-22 บาทโดยมี 3 จังหวัด ได้ขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 330 บาท/วัน ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง และมี 7 จังหวัด ได้ขึ้น เป็น 325 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา ส่วนจังหวัดที่ได้เพิ่มเป็น 320 บาท มี 14 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี อยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และพังงา ,จังหวัดที่ได้ขึ้นเป็น 318 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ และปราจีนบุรี ,จังหวัดที่ได้ขึ้นเป็น 315 บาท มี 21 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี และอ่างทอง ขณะที่จังหวัดที่ได้ขึ้นเป็น 310 บาท มี 22 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช ตรัง แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ศรีสะเกษ ตาก ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ระนอง มหาสารคาม ชุมพร หนองบัวลำภู และสตูล  และจังหวัดที่ได้ขึ้นเป็น 308 บาท  ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี