กลุ่มดุสิตธานีเชื่อหลังการก่อสร้างโครงการร่วมทุนมิกซ์ยูสกับCPN เปิดให้บริการอีก3-4ปี เชื่อจะกลับมาเป็นเรือธงและสัญลักษณ์ต้นถนนพระราม4 อีกครั้ง รับช่วงทุบทิ้งโรงแรม-ก่อสร้างโครงการใหม่ กระทบรายได้สูญ 900 ล้านบาท เตรียมปรับแผนชดเชยด้วยการเข้าซื้อกิจการโรงแรม-อาหารทั้งใน-ต่างประเทศ ทั้งเลื่อนเปิดรร.ในเครือแบรนด์ใหม่ย่านจตุจักรไปปี61

 


นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด(มหาชน) หรือDTC
เปิดเผยถึงแผนการปรับปรุงโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ว่า ยืนยันที่จะปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2561 และเริ่มรื้อถอนในช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 เพื่อสร้างเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ประกอบด้วย โรงแรม, ศูนย์การค้า, เรสซิเดนซ์ และอาคารสำนักงาน ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือCPN มูลค่ารวม 36,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการต่อสัญญาเช่าที่ดินจำนวน 23 ไร่ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 30+30ปี โดยไม่รวมระยะเวลาการก่อสร้างอีก 3-4 ปี

ทั้งนี้หลังจากการก่อสร้างโครงการในพื้นที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แล้วเสร็จ มองว่าโครงการดังกล่าวจะกลับมาเป็นเป็นเรือธง (Flagship) หรือเป็นสัญลักษณ์ (Icon) ในย่านต้นถนนพระราม 4 อีกครั้ง หลังจากที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เคยเป็น Icon ของทำเลย่านช่วงต้นถนนพระราม 4 ในช่วง 48 ปีที่ผ่านมา โดยการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสบนพื้นทื่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ จะเป็นรูปแบบที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจและมูลค่าทางจิตใจควบคู่กันไป พร้อมกับการผสมผสานเกี่ยวกับการอยู่อาศัย การค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและประเพณี รวมถึงธรรมชาติไปพร้อมๆกัน

“พื้นที่ดุสิตธานี กรุงเทพ ถือเป็นจิตวิญญาณของทุกคนในเครือดุสิตธานี การปิดก่อสร้างไปเป็นการหายไปในทางกายภาพ แต่ทางจิตวิญญาณยังคงมีอยู่ ตามกำหนดก่อสร้างของโครงการบนพื้นที่ดุสิตธานี กรุงเทพ จะเริ่มปิดให้บริการวันที่ 16 เมษายน และจะเริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคมปีหน้า แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการก่อสร้างไปบ้าง หากต้องมีการปรับแบบบางอย่างในโครงการ โดยในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าหลังจากการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ เชื่อว่าโครงการดุสิตธานี กรุงเทพ จะกลับมาเป็น Flagship หรือ Icon ในกรุงเทพฯ บนทำเลยมานต้นถนนพระราม 4 อีกครั้ง และจะทำให้บริเวณต้นถนนพระราม 4 กลับมาคึกคักมากขึ้น ซึ่งโครงการจะเชื่อมต่อการขนส่งทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ามาใช้บริการและดึงดูดให้มีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น”นางศุภจี กล่าว

 

 

อย่างไรก็ตามการรื้อทิ้งโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะทำให้รายได้ของโรงแรมในช่วงปี 2561-2564 หายไปประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งจะกดดันรายได้รวมของบริษัทให้ลดลงตั้งแต่ปี2561 โดยแนวทางการชดเชยรายได้ที่หายไปนั้น บริษัทเตรียมเข้าซื้อกิจการโรงแรมและกิจการอาหารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเข้ามาเสริมรายได้

 

อีกทั้งในปี 2561 จะมีการเปิดให้บริการร้านอาหารแห่งใหม่ในห้างสรรพสินค้า 3-4 แห่ง ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเน้นงานด้านการเป็นเชนบริหารโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทได้เซ็นสัญญาบริหารโรงแรมไว้แล้ว 62 แห่ง ใน 17 ประเทศ ซึ่งจะเริ่มบริหารโรงแรม 6-8 แห่ง ภายในปี 2561 ซึ่งจะมีรายได้ในการบริหารโรงแรมเข้ามาเสริมในปีเดียวกัน

นอกจากนี้บริษัทจะมีการเปิดโรงแรมในเครือดุสิตธานี ซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่ในช่วงต้นปี2561ซึ่งเลื่อนการเปิดมาจากปลายปี2560 โดยโรงแรมแบรนด์ใหม่ตั้งอยู่บนทำเลจตุจักร ซึ่งจะเข้ามาชดเชยรายได้จากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่ปิดก่อสร้างไปด้วยเช่นกัน แม้ว่าอาจจะไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมดก็ตาม อีกทั้งยังมีรายได้จากค่ามัดจำพื้นที่ศูนย์การค้า และโครงการที่อยู่อาศัยในโครงการมิกซ์ยูสอื่นๆที่บริษัทเข้าไปบริหารเข้ามาช่วยสนับสนุนรายได้