การเคหะแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรดำเนิน “โครงการศึกษาวิจัยเพื่อจัดการความรู้เรื่องอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยของท้องถิ่น: กรณีศึกษาพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างชายฝั่งทะเลตะวันออกในเขตจังหวัดสงขลา ปัตตานี และนราธิวาส” เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีต่อสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเรือนที่อยู่อาศัยอันมีเอกลักษณ์ และทรงคุณค่าต่อการเรียนรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึง วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยดังกล่าวว่าเพื่อสำรวจข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยภาคใต้ตอนล่างชายฝั่งทะเลตะวันออกและวิถีชีวิตการอยู่อาศัยด้านมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมในมิติของชาติพันธุ์ การตั้งถิ่นฐาน สถาปัตยกรรม และศิลปวัฒนธรรม โดยทำการศึกษา สำรวจรังวัด บันทึกภาพ รวมทั้งสัมภาษณ์เจ้าของเรือนกรณีศึกษาทั้งหมด 40 หลัง ในพื้นที่ศึกษา 6 ตำบล ใน 3 จังหวัด ได้แก่ เทศบาลเมืองตะลุบัน ตำบลปะเสยะวอ ตำบลเตราะบอน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี, ตำบลไม้แก่น อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี, ตำบล คูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยสามารถสรุปเป็นองค์ความรู้ด้านการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมลายู และองค์ความรู้ด้านรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเรือนพื้นถิ่นมลายู และแบบแผนการใช้สอยพื้นที่ภายในเรือนที่สัมพันธ์กับวิถีวัฒนธรรมของชาวมลายู

โครงการวิจัยดังกล่าว ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลทางภูมิศาสตร์ (GIS) และฐานข้อมูลแบบสถาปัตยกรรม 2 มิติและแบบจำลอง 3 มิติของเรือนกรณีศึกษาจำนวน 40 หลัง โดยในส่วนของแบบจำลอง 3 มิติ สามารถแสดงผลบนแอปพลิเคชั่นของโทรศัพท์มือถืออัจฉริยะ(Smart phone) และควบคุมด้วยอุปกรณ์แว่นสามมิติ VR Cardboard ทำให้ผู้ใช้สามารถรับรู้และมีปฏิสัมพันธ์กับโลกเสมือนจริงได้มากกว่าการแสดงผลในรูปแบบปกติ รวมไปถึงการผลิตสารสนเทศเพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เรียนรู้ผ่านสื่อประเภทต่างๆ อาทิ เว็บไซต์ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum)  สื่อผสมวีดิทัศน์ (Multimedia) สื่อโปสเตอร์นิทรรศการ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ผ่านมา ทางโครงการวิจัยได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้จากโครงการวิจัยสู่สาธารณะชนร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ศึกษาที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี จำนวน 2 ครั้ง และการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคลากรของการเคหะแห่งชาติ จำนวน 1 ครั้ง

นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติ ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เครือข่ายสถาบันการศึกษา และเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ได้กำหนดจัดประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ในชุดโครงการวิจัย “โครงการศึกษาวิจัยเพื่อจัดการความรู้เรื่องอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยของท้องถิ่น” ของทั้ง 5 ภูมิภาค อันเป็นส่วนหนึ่งของ “การประชุมวิชาการสถาปัตย์กระบวนทัศน์ 2560” โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 9 – 10 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ