ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เมื่อวันที่ 12กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยให้ พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าว ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด และให้รับความเห็นของกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ ให้ พม. ทบทวนความจำเป็นเหมาะสมในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ,การประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย ,การจัดตั้งกองทุนที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ,การหักรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาสนับสนุนกองทุนที่อยู่อาศัยแห่งชาติ และการจัดตั้งองค์กรระดับกระทรวงเพื่อดูแลรับผิดชอบด้านที่อยู่อาศัยเป็นการเฉพาะ เป็นต้นเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่และงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน ตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของร่างกฎหมายวินัยทางการเงินการคลัง

 

โดยสาระสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) มีวิสัยทัศน์ ว่า “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579” โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ 5ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานโดยมีเป้าประสงค์สนับสนุนให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างระบบการเงินและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป้าประสงค์เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการเงิน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับการบูรณาการด้านบริหารจัดการที่อยู่อาศัย เป้าประสงค์ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านที่อยู่อาศัย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนเป้าประสงค์ให้ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ 

และยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเป้าประสงค์เน้นการจัดการระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการจัดการที่ดินและผังเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

เสนอแยกศูนย์ข้อมูลฯเป็นหน่วยงานอิสระ

ต่อเรื่องดังกล่าวข้างต้น นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า การที่ภาครัฐวางกรอบและสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการก่อสร้างบ้านให้ผู้มีรายได้น้อยด้วย ถือเป็นเรื่องที่ดี จากในอดีตที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติ(กคช.)จะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเท่านั้น โดยเฉพาะบ้านเอื้ออาทร ที่กลายเป็นกรณีศึกษาที่ต้องนำมาพิจารณา เนื่องจากที่ผ่านมามีการก่อสร้างซัพพลายที่กระจุกตัวแต่ในพื้นที่เดียวกัน ดังนั้นหากจะเปลี่ยนแปลงก็ต้องกระจายซัพพลายให้เข้าถึงดีมานด์ทั่วทั้งประเทศ

และหากพัฒนาโครงการที่ไม่ใหญ่มากนักตามแหล่งงานก็จะสอดคล้องกับความต้องการมากกว่าที่จะพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ที่จะกระจุกตัวเพียงบางพื้นที่เท่านั้น อีกทั้งหากเป็นไปได้ก่อนที่ลูกค้าจะซื้อบ้านควรดำเนินการขอกู้สินเชื่อกับสถาบันการเงินให้พิจารณาก่อน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาReject ในภายหลัง

 

ทั้งนี้ในการวางยุทธศาสตร์ทั้ง 5 นั้นถือว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญมาก เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีความชัดเจนและเกิดขึ้น เพราะทุกเรื่องดังกล่าวข้างต้นล้วนเป็นเรื่องที่มีการนำเสนอมานานแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดำเนินงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) แต่หากในอนาคตสามารถแยกออกมาเป็นหน่วยงานอิสระก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่ทั้งนี้ก็จะต้องมีแหล่งที่มาของรายได้  ส่วนเรื่องการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยและการจัดตั้งกองทุนที่อยู่อาศัยแห่งชาตินั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้มีรายได้น้อย แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวคงต้องดำเนินการควบคู่กันด้วย เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ และในอนาคตหากจะให้สถาบันการเงินผ่อนปรนเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ก็ควรที่จะมีกองทุนที่อยู่อาศัยแห่งชาติเข้ามาประกันความเสี่ยงด้วย เรื่องดังกล่าวจึงจะเป็นรูปธรรมขึ้นได้

 

แนะดึงผู้ทรงคุณวุฒิเดิมร่วมวางยุทธศาสตร์

ด้านนายสัมมา คีตสิน นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ในอดีตเคยมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีองค์คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการประกอบไปด้วยผู้แทนจากหลากหลายหน่วยงาน แต่ที่ผ่านมาผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆมักวนเวียนผลัดเปลี่ยนตัวบุคคลมาร่วมประชุม ทำให้การกำหนดนโยบายและแผนงานต่างๆไม่ค่อยต่อเนื่อง ซึ่งไม่ทราบว่าปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายชุดดังกล่าวยังมีอยู่หรือไม่

 

ขณะเดียวกันยังเคยมีความพยายามจัดตั้งสภาที่อยู่อาศัยแห่งชาติ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้  ดังนั้นการที่รัฐบาลชุดนี้มีความพยายามในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัยระยะยาวนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรต้องนับหนึ่งใหม่ โดยควรนำบุคลากรต่างๆที่เคยมีส่วนร่วมในอดีตถึงปัจจุบันมาเป็นตัวตั้งต้นด้วย เช่น ผลการศึกษาต่างๆที่การเคหะแห่งชาติหรือหน่วยงานอื่นๆเคยจัดทำ รวมทั้งควรใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้และเคยร่วมอยู่ในคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติหรือหน่วยงานอื่นๆด้านที่อยู่อาศัยที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาร่วมในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้วย

 

“การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติควรมาจากงบประมาณส่วนกลางหรืองบประมาณจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่ควรให้เป็นภาระของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงแห่งเดียว ทั้งนี้เพื่อให้ศูนย์ข้อมูลดังกล่าวมีเจ้าภาพร่วมกัน โดยอาจให้การเคหะแห่งชาติเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากเป็นหน่วยงานด้านที่อยู่อาศัยโดยตรง  อย่างไรก็ตามควรมีบุคลากรจากภาคเอกชนหรือภาควิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็นหรือให้คำปรึกษา เพราะนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติมิได้จำกัดเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยที่ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงภาพที่อยู่อาศัยทั้งประเทศ” นายสัมมา กล่าวในที่สุด

เชื่อว่ารัฐบาลจะช่วยสานฝันให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอย่างถ้วนหน้า เพราะเป็นรัฐบาลแรกที่จริงจังที่จะสานนโยบายดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนให้ได้ ด้วยการอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง