การ “Transformation”ของ บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนต์ เซอร์สิส จำกัด หรือ LPS หนึ่งในกลุ่มธุรกิจบริการ (Service Provider)ของเครือ LPNที่ประกาศแผนธุรกิจเมื่อช่วงต้นปี 2560 จากคู่แข่งเป็นพาร์ทเนอร์ “เราจะโตไปด้วยกัน” ด้วยการขยายฐานธุรกิจจากเดิมที่บริหารงานก่อสร้างเฉพาะโครงการของLPN ปรับสู่ การให้บริการครบวงจรสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายนอกเพิ่มขึ้น พร้อมกับมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่หลังจากที่ “อนันดา”เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น

“เรื่องนี้CEO-ทิฆัมพร บอกเลยว่าถ้ามากกว่า 8 ชั้นเรายังไม่รับ” ดร.พร วิรุฬรักษ์ กรรมการผู้จัดการของLPS กล่าวกับทีมงาน prop2morrow .com ถึงความคืบหน้าของการขยายธุรกิจออกไปรับงานนอกเครือบริษัทแม่บมจ. แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์  หรือLPN พร้อมกับขยายความว่า “อนันดา” ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์(ถือหุ้นLPS ในสัดส่วน 10%)เราตอนนี้ไม่มี 8 ชั้น มีแต่ 30 ชั้น 40 ชั้น มีโปรดักส์เกรดที่แตกต่างกัน คือ เราต้องมั่นใจว่าทำแล้วต้องออกมาดี ต้อง A+ หมายถึงว่า ถ้าเราต้องทำอะไรที่ถนัดและมีความมั่นใจ 100% เราขอเริ่มโปรดักส์“ซิมเปิ้ลๆ” คอนโดฯสูง8 ชั้นที่หลับตาแล้วนึกภาพออกกับคนอื่นก่อน ซึ่งอนันดา(ยัง)ไม่มี

…หวังว่าปีนี้น่าจะมีสักโครงการที่ทำร่วมกัน แต่ก็ขึ้นอยู่ว่าCEO ของLPN กับ CEO ของอนันดา จะพุดคุยหรือตกลงกัน”

 

แม้โครงการพัฒนากับ “อนันดา”ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง  แต่ LPS ก็พร้อมที่จะขยายออกไปรับงานไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทอสังหาฯขนาดกลาง และขนาดเล็กหรือ “อสังหาฯSME” ล่าสุด ก็ได้นำร่องกับผู้ประกอบการอสังหาฯรายใหญ่รายหนึ่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ตอนนี้ ตัวแบบต่างๆนั้นเสร็จหมดแล้วเหลือเพียงการเจรจาค่าก่อสร้าง และผู้ประกอบการรายนี้ก็ใช้โครงการคอนโดลุมพินีที่บางแวกเป็นต้นแบบ

 

โดย ดร.พร บอกว่า LPN มีซิกเนเจอร์โปรดักส์ ที่เป็นต้นแบบซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดนำไปใช้ก็สามารถที่จะปรับแต่งหรือCustomize ได้อย่างที่ต้องการ พูดง่ายๆคือ

1.คุณต้องเอาต้นแบบของเราไปส่วนอื่นๆก็Cosmetic ในแบบหรือในสไตล์ของคุณ

2.อาจมีผลกระทบต่อต้นทุนบ้างนั่นคือ ในกรณีที่พื้นที่ส่วนกลางใหญ่หรือเพิ่มเติมไปมากกว่ามาตรฐานที่ LPN มี

และ3.เรื่องสเปกห้องชุดหรือออฟชันอื่นๆที่ใส่เข้าไป ยกตัวอย่างเช่น ห้องชุด LPN ไม่เคยให้แอร์ลูกค้าเลย แต่เจ้าของโครงการบอกว่าจะเอาแอร์ เราก็ต้องมานั่งคิดว่าท่อแอร์จะเดินกันอย่างไร มาอินทิเกรตกันว่าต้นทุนจะเพิ่มเท่าไหร่ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางผู้ประกอบการเจ้าของโครงการจะได้ก็คือ  VALUE ที่เป็นซิกเนเจอร์จากLPN  เพราะเรามี Service Sistem  และมี “LPN TEAM”ที่มีทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างและซัพพลายเออร์วัสดุฯต่างๆที่จะช่วยเพิ่ม 4 VALUE” ให้ลูกค้า ดังนี้ 1.สื่อสารกับทาง LPS รายเดียว 2.ลดขั้นตอนการทำงาน 3.LPS จะดำเนินการติดต่อขออนุญาตต่างๆกับทางหน่วยงานราชการ  และ4. การบริการส่งมอบห้องชุดให้กับเจ้าของร่วมที่เป็นผู้บริโภคที่ซื้อห้องไปจากทางเจ้าของโครงการในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเราเรียกว่า “วัน@ลุมพินี” การบริการต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้ลูกค้าสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี แม้LPS จะคิดค่าฟี 5% ก็ถือว่าคุ้ม

 

การรับโครงการภายนอกโครงการ LPN ของLPS นั้นเบื้องต้นสะท้อนได้ว่ากำลังทดสอบตลาดว่าจะมีการตอบรับมากหรือน้อยอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ดร.พร กล่าวในตอนท้ายว่า จากการขยายงานของบริษัทแม่ LPN ทั้งด้านการเพิ่มกำลังการผลิต ที่ไม่ใช่แค่เป็นการเพิ่มปริมาณในโปรดักส์ที่เป็นคอนโดฯ หากแต่เป็นการเพิ่ม “เซ็กเมนต์”สู่ที่อยู่อาศัยแนวราบจับกลุ่มระดับกลางบน ถือว่าเป็นการทำงานที่ท้าทายในอนาคต

 

ส่วนในเรื่องของรายได้นั้น ดร.พร บอกว่าตอนนี้มีงานในมือที่เป็นของเครือLPN นั้นล้นไปถึงปี 2561ซึ่งนั่นหมายความว่าการันตีรายได้ตามเป้ารายได้ไว้ที่ 250 ล้านบาทแน่นอน ส่วนปี2560 นั้นตั้งไว้ 130 ล้านบาทก็ไม่น่าพลาดเป้า

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 บมจ. แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) นำโดยนายทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานคณะกรรมการบริหาร (CEO) ประกาศจัดทัพธุรกิจครั้งใหญ่ปี2560 ก้าวสู่ “บริบทใหม่แห่งความยั่งยืน” ซึ่งเป็นปีของการเริ่มต้นวิสัยทัศน์รอบใหม่“ปีแห่งการปรับ” หรือ “YEAR OF SHIFT” ซึ่งจะเป็นการปรับทิศทางในการดำเนินงานของ LPN และ บริษัทในเครือทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มธุรกิจในการดำเนินงาน ได้แก่

กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) คือ

  1. บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN)
  2. บริษัท พรสันติ จำกัด (PST)

กลุ่มธุรกิจให้บริการ (Service Provider) คือ

  1. บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด (LPC)
  2. บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP)
  3. บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด (LPS)

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน (30 มกราคม) นายชานนท์ เรืองกฤตยา CEO บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือANANก็ปรากฎตัวภายในงานแถลงข่าวของLPN ก่อนที่จะประกาศการเข้าไปถือหุ้นในบริษัท LPS ในเวลาต่อมา