จากสภาวะสังคมไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย เอสซีจี เอลเดอร์แคร์ โซลูชั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จึงแนะเคล็ดลับปรับ 4 พื้นที่สำคัญ เพื่อความปลอดภัย สะดวกสบาย และสุขภาวะที่ยืนยาว

นางสาวปวีร์มน ทองราช ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Design Consultant)จากเอสซีจี เอลเดอร์แคร์ โซลูชั่น กล่าวว่า การออกแบบบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุต้องคำนึงถึง 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ Safety ความปลอดภัย Ease of use อุปกรณ์ต่างๆ ควรใช้งานง่าย สะดวก และออกแรงน้อย Eligible ดีไซน์ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและข้อจำกัด Accessibility การจัดพื้นที่และอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการเคลื่อนตัว และ Stimulation การฟื้นฟูความมีชีวิตชีวาผ่านการจัดสภาพแวดล้อม นอกจากนี้พบว่าบริเวณที่ผู้สูงอายุ มักประสบปัญหาหกล้ม และเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ พื้นที่ขึ้นลงบันได และภูมิทัศน์รอบบ้าน ด้วยเหตุนี้  จึงแนะเคล็ดลับปรับพื้นที่บ้าน ด้วยแนวคิด เอจเลส ลีฟวิ่ง (Ageless Living) ที่มุ่งให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้านได้อย่างมีความสุข พร้อมให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญฟรี

ไฟส่องสว่างอัจฉริยะในห้องนอน

 

ห้องนอน ควรจัดอยู่ชั้นล่างเพื่อลดการขึ้นลงบันได ในบริเวณที่มีความสงบ เป็นส่วนตัวและมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

  • พื้น ควรปูด้วยวัสดุลดแรงกระแทกและไม่ควรมีพื้นที่ต่างระดับ เพื้อป้องกันการสะดุด หกล้ม
  • เตียงนอน เลือกขนาดให้เหมาะสม สามารถปรับระดับความสูงได้ มีราวจับข้างเตียง ฟูกที่นอนไม่แข็ง หรือนิ่มเกินไป พร้อมแนะให้มีพื้นที่บริเวณข้างเตียง 90-100 ซม. เพื่อให้ดูแลได้ง่ายและรองรับการใช้งานรถเข็น
  • ภายในห้องนอน ติดตั้งราวจับบริเวณที่มีการลุกนั่ง มีไฟส่องสว่างที่สามารถเปิดปิดอัตโนมัติ ด้วยการตรวจจับความเคลื่อนไหวอย่างแม่นยำ เพื่อนำทางเดินจากเตียงนอนไปกลับห้องน้ำในยามค่ำคืน
  • เฟอร์นิเจอร์ แนะนำให้มีโต๊ะข้างเตียงที่หยิบของได้สะดวก ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของควรมีระดับความสูงที่เหมาะสม
  • ประตู ไม่ควรมีธรณีประตู เลือกแบบบานเลื่อนเปิด-ปิด ที่มีระบบรางแขวนด้านบนตัวล็อค ใช้งานง่าย ใช้แรงน้อย

 

ห้องน้ำ ควรกว้างอย่างน้อย 200 ซม. เพื่อรองรับการใช้รถเข็น แนะนำให้มีการแบ่งพื้นที่โซนห้องน้ำเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ดังนี้

  • พื้นที่โซนแห้ง เลือกใช้อ่างล้างหน้าแบบแขวนผนังที่สามารถรองรับน้ำหนักการเท้าแขน หรือเลือกอ่างแบบฝังครึ่งเคาน์เตอร์ เพื่อให้มีพื้นที่ใต้อ่างสะดวกต่อการใช้งานของรถเข็น ก๊อกน้ำควรเป็นแบบก้านโยก หรือก้านปัด ส่วนโถสุขภัณฑ์ควรเป็นแบบนั่งราบ มีระดับความสูงให้เหมาะสม และติดตั้งราวจับบริเวณข้างโถสุขภัณฑ์
  • พื้นที่โซนเปียก แนะนำให้มีที่นั่งอาบน้ำที่มีความแข็งแรง ขนาดและความสูงที่เหมาะ โดยฝักบัวควรติดตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของที่นั่ง ก้านฝักบัวสามารถปรับระดับความสูงได้ เลือกใช้วาล์วเปิด-ปิดน้ำ ที่สามารถคุมอุณหภูมิได้ ติดตั้งราวจับบริเวณพื้นที่อาบน้ำ ที่สำคัญควรใช้กระเบื้องปูพื้นที่มีค่าความฝืด ตั้งแต่ R10 ขึ้นไป รวมไปถึงการติดตั้งราวจับโดยเฉพาะพื้นที่อาบน้ำ

ก๊อกน้ำแบบก้านปัด

 

พื้นที่ขึ้นลงบันได ควรให้ปรับมีความกว้างที่เหมาะสม ลูกตั้งบันไดสูงไม่เกิน 15 ซม. ลูกนอนกว้างอย่างน้อย 30 ซม. จมูกบันไดมีสีแตกต่างจากพื้นผิวของบันได มีราวบันไดทั้ง 2 ข้าง ในระยะ 80 ซม. จากพื้น และมีแสงสว่างให้เพียงพอ หรือแนะนำให้ติดตั้ง “ลิฟท์บันได” เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกได้

บันไดที่ปรับสำหรับผู้สูงอายุ

 

ภูมิทัศน์รอบบ้าน ทางเข้าบ้านและบริเวณสวน พื้นทางเดินควรเรียบ มีที่นั่งสำหรับชมธรรมชาติ ที่นั่งพักควรมีราวจับ หรือเท้าแขน เพื่อช่วยในการพยุงตัวลุกได้สะดวก ในกรณีที่มีทางลาดเข้าบ้าน ควรมีความชัน ไม่เกิน 1:12 มีพื้นที่ว่างหน้าทางลาดไม่น้อยกว่า 150 ซม. ใช้วัสดุพื้นผิวไม่ลื่น มีขอบกั้นและราวจับตลอดแนวทางลาด สำหรับความกว้างทางเดินควรกว้างอย่างน้อย 90 ซม. เพื่อรองรับการใช้รถเข็น นอกจากนี้หากผู้สูงอายุชอบการทำสวน ควรเลือกการปลูกในกระบะ ที่ระยะความสูงประมาณ 60-80 ซม. หรือปลูกต้นไม้แบบสวนแนวตั้ง

 

สำหรับโปรโมชั่นเพียงเพิ่มเพื่อน SCG ใน LINE official account สามารถกดรับคูปองส่วนลดเพื่อซื้อสินค้ากลุ่มเอลเดอร์แคร์ เพิ่ม 5% เมื่อซื้อสินค้ามูลค่าตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป (ส่วนลดสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท เฉพาะสาขาเอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์) หรือรับส่วนลดเพิ่ม 1,000 บาท เมื่อซื้อสินค้ามูลค่าตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป (เฉพาะสาขาเอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ และ เอสซีจี โฮมโซลูชั่นทุกสาขา) ตั้งแต่ 2 ส.ค. – 30 ก.ย.2560