คมนาคมดึงไจก้า ร่วมศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ M Map 2  เชื่อมโยงโครงข่ายแผนระยะที่ 1 นำร่อง 3 สายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา สีทองและสีน้ำตาลสนข. เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม)   เพื่อใช้เสาตอม่อ บนถนนประเสริฐมนูกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมเปิดเวทีประชาพิจารณ์   รับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 รุกสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน พุ่งเป้าเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม-ลดปัญหาจราจร

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency – JICA) หรือไจก้า กำลังศึกษาถึงแผนแม่บทรถไฟฟ้า ระยะที่ 2หรือ M Map 2 เชื่อมโยงโครงข่ายหลักของแผนระยะที่1อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเบื้องต้นเป็นระบบรางมี 3 สายคือ สายสีเทา สายสีทองและสายสีน้ำตาล ที่ล่าสุด วันนี้ (26 ก.ค.2560)เปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๑ (ปฐมนิเทศโครงการ) การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม)

ทั้งนี้สนข. ได้ศึกษาทบทวน    และเสนอแนะการใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อที่ก่อสร้างไว้แล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน พร้อมเสนอแนะรูปแบบการลงทุนและเปรียบเทียบทางเลือกที่เหมาะสมกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล  ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)        การมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนการออกแบบเบื้องต้นและประมาณราคาค่าก่อสร้าง ซึ่งมีระยะเวลาศึกษา 14 เดือน (เริ่มวันที่10เม.ย.2560-วันนที่9มิ.ย.2561) มีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มความสะดวก ความปลอดภัย และประหยัดเวลาการเดินทางของประชาชน

นอกจากนี้ยังเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบทางพิเศษระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนงามวงศ์วานและถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดรูปแบบทางเลือกการพัฒนาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ในการพิจารณา 4 รูปแบบ ได้แก่

รูปแบบที่ 1. การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า)

รูปแบบที่ 2 การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ  E-W Corridor

รูปแบบที่ 3 การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ประกอบด้วย โครงข่ายทดแทน  N1 (การเชื่อมต่อ N2 เข้ากับโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ) เพื่อเชื่อมวงแหวนตะวันออก-ตะวันตก N2 และ E-W Corridor 

และ รูปแบบที่ 4 การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) และระบบทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน

นายอาคมฯ การศึกษาความเหมาะสมของโครงการจะดำเนินการควบคู่กันไปทั้งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและแนวเส้นทางทางพิเศษ โดยแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เริ่มต้นจากแยกแคราย เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) บริเวณสถานีบางเขน ผ่านแยกเกษตร เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-คูคต) บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) บริเวณแยกลำสาลี รวมระยะทางประมาณ 21.5 กิโลเมตร

 

สำหรับแนวเส้นทางทางพิเศษจะเริ่มจากบริเวณสี่แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ตัดถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนนวมินทร์ ไปสิ้นสุดที่ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายจากบริเวณสี่แยกเกษตรไปเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ทั้งนี้ การศึกษาความเหมาะสมของโครงการจะต้องพิจารณาการเชื่อมต่อโครงข่ายการขนส่งและจราจรในภาพรวม และความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อโครงข่ายฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่ง สนข. จะได้นำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมภายในเดือนกันยายน 2560

เมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชนที่สนใจ รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าร่วมสัมมนาฯ ดังกล่าว จำนวน 200 คน และได้มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆได้แสดงความคิดเห็นและสนับสนุนให้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า

 

สนข. จะมีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็น     และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ สามารถแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการฯ เพิ่มเติมผ่านเว็บไซด์ของโครงการ www.brownline-fs2560.com ได้ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการฯ ซึ่ง สนข. จะได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ไปประกอบการศึกษาต่อไป