จากการที่รัฐบาลประกาศออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หวังจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ และเป็นการป้องปรามเพื่อไม่ให้นายจ้างหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายและเห็นความสำคัญของการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย ลดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ปรากฏว่าได้ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างถูกต้องและไม่ถูกต้องเกิดอาการตระหนกและหวาดกลัว ทยอยเดินทางกลับประเทศตัวเองเป็นตัวเลขหลักหมื่นรายแล้ว ซึ่งปัญหาที่ตามมาได้ส่งผลกระทบในวงกว้างในหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาฯและรับเหมาก่อสร้าง

 

ซึ่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เพื่อนำเสนอปัญหาในภาคปฏิบัติตามพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน2560 ที่ผ่านมาโดยได้เสนอความเห็น เพื่อนำไปพิจารณาประกอบแนวทางการปฏิบัติ 4 ข้อ คือ1.เปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบ 2.ควรให้มีผู้แทนภาคเอกชนหรือกกร.เข้ามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพ.ร.ก.ได้และไม่กระทบต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวมากเกินไป 3.ควรกำหนดกฎหมายอนุบัญญัติเฉพาะในการจ่ายค่าชดเชยแรงงานต่างด้าว ที่มาทำงานกับนายจ้างในประเทศ และ 4.ควรประชาสัมพันธ์พ.ร.ก.ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้ประกอบการ ตลอดจนตั้งศูนย์ในการให้คำปรึกษาของกระทรวงแรงงานต่อไป

 

โดยเรื่องดังกล่าวภาครัฐรับได้กับข้อเสนอทั้งหมด ยกเว้นข้อแรก เพราะการเปิดศูนย์รับจดทะเบียนใหม่ในประเทศไทยมีอุปสรรค ถ้าทำจะขัดต่อบันทึกความเข้าใจ(MOU)ที่ไทยทำไว้ไว้กับเมียนมา ลาว และกัมพูชา และขัดต่อข้อตกลงเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) และหลังจากออกพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ก็ต้องออก มาตรา 44 เพื่ออนุโลมให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุม คสช.ในวันอังคารนี้(4ก.ค.2560)

รับเหมารายย่อยแรงงานหาย-จับเข่าคุยเจ้าของโครงการ

ผูู้สื่อข่าวprop2morrow.com ได้สอบถามผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างทั้งรายใหญ่และรายย่อยหรือซับคอนแทรก ซึ่งเป็นรายย่อยที่รับงานโครงการมาจากผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มาอีกทอดหนึ่งต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว  ขณะนี้แรงงานต่างด้าวต่อ 1 โครงการหายไปประมาณ 100-200 ราย หรือสัดส่วนประมาณ 30% ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้า จึงต้องมีการนำปัญหาดังกล่าวไปหารือกับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงการ หากเป็นรายที่เป็นคู่ค้ากันมานานก็จะเข้าใจและอะลุ่มอล่วยให้ ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการทุกรายต่างรอความชัดเจนของภาครัฐ เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะได้รับผลกระทบกันไปหมด

หวั่นค่าแรงขึ้น400บาทผู้บริโภครับกรรมแน่

นายวิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด(มหาชน)หรือ PREBเปิดเผยว่า จากการที่กกร.ยื่นหนังสือถึงสนช.เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น เท่าที่ทราบมาในเบื้องต้นขณะนี้คือรัฐบาลอาจจะผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสามารถย้ายเขตทำงานในพื้นที่จังหวัดเดียวกันได้ ซึ่งต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ประสบปัญหามาก คือเมื่อมีการจัดทำใบอนุญาตเสียค่าธรรมเนียมอย่างถูกต้องให้กับแรงงานอย่างถูกต้องแล้ว (รายละประมาณ 20,000 บาท/ราย/ครั้ง) แรงงานต่างด้าวรายนั้นๆก็จะต้องทำงานชดใช้ด้วยการหักค่าแรงไปในแต่ละเดือน แต่ปรากฏว่าบางรายทำงานเพียง 1 เดือนก็หนีไปอยู่กับนายจ้างใหม่ ที่ไม่ต้องถูกหักค่าแรง ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ค่อยอยากเข้าระบบที่ถูกต้อง คิดเป็นสัดส่วนมากถึงกว่า 50% ดังนั้นหากภาครัฐต้องการให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวเข้าระบบอย่างถูกต้อง ก็ควรที่จะลดค่าธรรมเนียมให้ถูกมากที่สุด ยิ่งถึงหลักพันด้วยยิ่งดี และคิดว่าการที่รัฐบาลยืดระยะเวลาการบังคับใช้พ.ร.ก.ออกไปอีก 120 นั้น เชื่อว่าคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ยิ่งหากต้องมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลแล้ว ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

 

สำหรับในส่วนของบริษัทเองนั้นเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายทั้งหมด จึงไม่ค่อยมีผลกระทบ แต่ผู้รับเหมาช่วงหรือผู้รับเหมารายย่อยอาจจะมีผลกระทบ ที่ส่วนใหญ่อาจจะใช้แรงงานที่ไม่ถูกกฎหมาย เนื่องจากไม่มีเงินมากเพียงพอจะเสียค่าธรรมเนียมให้แรงงานต่างด้าว ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาแรงงานหนีกลับประเทศตัวเอง ส่งผลให้งานก่อสร้างล่าช้าหรือหยุดชะงักลง และมีแนวโน้มว่าแรงงานเหล่านั้นอาจจะไม่กลับมาประเทศไทยอีก แต่จะกลับไปวช้แรงงานที่ประเทศตนเองหรือประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วและไม่มีกฎหมายที่ละเอียดอ่อนเหมือนประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตามมีกระแสข่าวออกมาว่าในปี2561 ค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นไปที่ 400 บาท/วัน หากเป็นเช่นนั้นจริงต้นทุนค่าก่อสร้างก็ต้องปรับขึ้นอย่างแน่นอน และสุดท้ายผู้ที่ต้องแบกรับภาระก็คือผู้บริโภค ทั้งนี้ปัญหาทั้งหมดคงต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐ

 

จับตาหลัง4เดือนเกิดปัญหาแย่งชิงแรงงาน

ด้านนายธีรพัฒน์ จิรพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่ริมดอย จำกัด(มหาชน)หรือCRD  ผู้ประกอบกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างทั่วไปประเภทต่างๆ และการรับเหมาก่อสร้างงานระบบสาธารณูปโภค ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทฯไม่ค่อยมีแรงงานที่ผิดกฎหมาย และได้รับผลกระทบน้อยและเป็นแรงงานที่เป็นชาวไทยใหญ่ทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วน 80-90% ที่เหลือเป็นแรงงานชาวไทย แต่จากปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลโดยรวมคือแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายต่างทยอยกลับประเทศของตนเองเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาตามมาคืองานก่อสร้างที่ล้าช้า และเชื่อว่าหลังจากนี้ไปอีก 4 เดือน จะเกิดปัญหาการแย่งแรงงาน ค่าแรงจะปรับขึ้นสูงโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่ทราบว่าเมื่อถึง ณ วันนั้นแล้ว เหตุการณ์จะรุนแรงมากน้อยเพียงใด

 

“ในส่วนของบริษัทมีความระมัดระวังในเรื่องแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด แต่ในส่วนของผู้รับเหมาช่วงคงต้องตรวจสอบเรื่องแรงงานต่างด้าวให้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแรงงานหายไปไหน เนื่องจากรัฐบาลได้ยืดระยะเวลาออกไปให้อีก 120 วัน แต่หลังจากนั้นคงต้องมีผลกระทบอย่างแน่นอน แต่เชื่อว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ต้องเตรียมรับมือไว้ได้อย่างแน่นอน เพราะคงไม่มีผู้ประกอบการรายไหนอยากทำผิดกฎหมาย แต่อยากให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้กว้างกว่านี้”นายธีรพัฒน์ กล่าวในที่สุด

 

ไม่ต่างทัวร์ศูนย์เหรียญ-ตกหลุมกับดักศก.

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี กล่าวว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ถือเป็นกฎหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม หากใครปฏิบัติได้ถูกต้องก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายในหลายธุรกิจไม่ค่อยปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง จึงเกิดปัญหาตามมา และภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สุดท้ายจึงต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ดังกล่าวขึ้นมา  ซึ่งมองว่าปัญหาดังกล่าวไม่ต่างจากทัวร์ศูนย์เหรียญที่เกิดวิกฤตตามมา จนทุกวันนี้ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และเรื่องพ.ร.ก.นี้ หากครบกำหนดการยืดระยะเวลา 120 วันแล้วไม่ได้รับการแก้ปัญหา ก็จะเกิดวิกฤตอย่างแน่นอน คือจะเกิดตกหลุมกับดักเศรษฐกิจที่ขุดขึ้นไว้เองและขึ้นมาได้ยาก ซึ่งรัฐบาลต้องศึกษาวิธีการในการแก้ไขใหม่ เนื่องจากยังไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับการให้บริการนำเข้าแรงงานต่างด้าวหรือMOU ของผู้ใช้แรงงานในประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา รวมไปถึงการแก้ไขไม่ให้ต่างด้าวมาแย่งอาชีพสงวนของคนไทยด้วย

 

ขณะนี้ผู้ประกอบการภาคอสังหาฯและก่อสร้างได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน มีแรงงานหายไปเป็นจำนวนมาก แต่จากการที่รัฐบาลยืดขยายเวลาออกไปให้อีก 120 วัน ก็ยังพอมีแรงงานบางส่วนเหลืออยู่ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบไปแจ้งให้แต่ละบริษัททราบแล้ว และคนในเครื่องแบบบางคนก็เรียกเก็บเงินจากแรงงานต่างด้าว ด้วยความกลัวแรงงานเหล่านั้นก็ต้องให้เงินไป ตรงนี้มองว่ากฎหมายไทยยังมีช่องโหว่ให้ผู้ใช้กฎหมายกระทำการที่เกินเลย และเชื่อว่าหากพ้น 120 วันไปแล้ว รัฐบาลยังไม่ได้ข้อสรุป ปัญหานี้คงถึงขั้นวิกฤตอย่างแน่นอน

 

ถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน ส่งผลกระทบไปทุกธุรกิจ หากภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายและถูกจุดได้ เชื่อว่าประเทศไทยเกิดวิกฤตแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคงเดือดร้อนกันเป็นลูกโซ่อย่างแน่นอน

 

** prop2morrow โดย คุณวาสนา กลั่นประเสริฐ  เบอร์โทร.02-632-0645 E-mail : was_am999@yahoo.com